วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อะไรคือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน?

On April 18, 2019

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ
อะไรคือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน?
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 19-26 เมษายน 2562)

ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน หรือจับต้องมิได้ (Intangible Assets) เป็นเช่นไร แล้วจะมีมูลค่าได้อย่างไรถ้าจับต้องไม่ได้ มาเรียนรู้ทรัพย์สินประเภทนี้กัน

ปรกติทรัพย์สินแยกออกเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ทรัพย์สินที่มีตัวตนยังแยกออกเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้และที่เคลื่อนย้ายได้ โดยทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ก็คือที่ดินและอาคารนั่นเอง ส่วนทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ก็ได้แก่ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม “กฎทุกกฎมีข้อยกเว้น” ทรัพย์สินก็อาจมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น

1.การสร้างสนามบินกลางทะเล ซึ่งแต่เดิมบริเวณนั้นไม่มี แต่ถมดินขึ้นมาและแปรสภาพเป็นสนามบิน ก็ดูประหนึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายสนามบินมา

2.ในทางตรงกันข้าม เฟอร์นิเจอร์ประเภทบิลท์อินหรือติดตรึงใช้เฉพาะอาคารหนึ่งๆ ก็อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่สามารถเคลื่อนย้ายได้

ทีนี้มาถึงทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ผมเอามาให้ดูจากโรงเรียนพาณิชย์คือโรงเรียนตั้งตรงจิตร (https://bit.ly/2IvOJoS) และโรงเรียนเทคโนโลยีหมู่บ้านครูบริหารธุรกิจ (https://bit.ly/2GeCMCB) โดยว่ากันตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 51 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีกายภาพ ซึ่งต่างจากสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน อันหมายถึงเงินสด หรือสินทรัพย์ที่กิจการจะได้รับเป็นจำนวนที่แน่นอน หรือสามารถทราบได้ และมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ยังได้ขยายความสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอีกว่า รายการที่จะถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ต้องสามารถระบุได้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ และต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต
Trade Mark
สินทรัพย์จะเข้าเกณฑ์สามารถระบุได้ตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ต่อเมื่อ

1.สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือ สามารถแยกหรือแบ่งจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือโดยรวมกับสัญญา สินทรัพย์ หรือหนี้สินที่เกี่ยวข้อง หรือ

2.ได้มาจากการทำสัญญาหรือสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการหรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่นๆ
brand
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนแยกออกเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้งานจำกัดตามข้อบังคับของกฎหมายหรือตามสัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิการเช่า สัมปทาน รายชื่อลูกค้า สัญญาต่างๆ และสินทรัพย์ที่ไม่จำกัดอายุการใช้งาน เช่น เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยมที่สามารถระบุได้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้งานจำกัด ได้แก่

1.สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ เพื่อให้ได้สิ่งของ เครื่องใช้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือการออกแบบขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดบรรจุน้ำอัดลม หรือการออกแบบลวดลายบนจานข้าว ถ้วยกาแฟ ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น สิทธิบัตรยังแบ่งออกเป็น

1.1 สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention patent) หมายถึง สิทธิในการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หรือมีการประดิษฐ์ที่ดีกว่าเดิมเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต การรักษา ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามปรกติ สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี นับจากวันที่กิจการขอจดทะเบียน

1.2 สิทธิบัตรการออกแบบ (Product design patent) หมายถึง สิทธิในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรการออกแบบจะมีอายุ 10 ปี นับจากวันที่ขอรับสิทธิบัตร ราคาทุนของสิทธิบัตรได้จากราคาซื้อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ

2.ลิขสิทธิ์ (Copyrights) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆเกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย อายุของลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคลจะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลังจะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยจึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรกที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้

3.สิทธิการเช่า (Leasehold) หมายถึง สิทธิที่ได้รับเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจากเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งปรกติจะมีระยะเวลานาน โดยผู้ให้เช่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน

4.สัมปทานและการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Franchises and Licensing) หมายถึง สิทธิที่รัฐบาลหรือบุคคลให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการเฉพาะอย่างหรือเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หมายถึง การที่รัฐบาลมอบสิทธิให้เอกชนดำเนินกิจการบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น สัมปทานป่าไม้ สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้า สัมปทานทางด่วน เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้คำว่าสัมปทานตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานเพียงว่าน่าจะเป็นคำค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่เกินร้อยปีมานี้เอง ซึ่งในสมัยโบราณยังไม่มีคำเรียกเฉพาะว่าสัมปทาน แต่จะใช้เรียกแตกต่างกันไปตามการให้สัมปทานในกิจการนั้นๆ เช่น สัมปทานป่าไม้ก็จะเรียกว่า “ให้เช่าทำป่าไม้” ส่วนสัมปทานรังนกก็จะเรียกว่า “ทำอากรรังนก” เป็นต้น ปัจจุบันคำว่าสัมปทานถือเป็นคำกลางที่ใช้ได้กับกิจการหลายประเภท แต่ในบางกรณีก็ยังถือว่าเป็นคำที่ไม่เป็นทางการนัก เช่น ในกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่จะไม่ใช้คำว่าสัมปทาน แต่จะใช้คำเฉพาะคือ ประทานบัตร ซึ่งหมายถึงหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อแสดงสิทธิการทำเหมืองแร่ภายในเขตที่กำหนด

5.รายชื่อลูกค้า (Customer list) เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เช่น รายชื่อลูกค้า คำสั่งซื้อ คำสั่งผลิต เป็นต้น บางกิจการอาจเลิกผลิตสินค้าแล้ว แต่ลูกค้าเก่ายังคงต้องสั่งซื้อสินค้านั้น กิจการสามารถนำบัญชีรายชื่อลูกค้าขายต่อให้กับผู้ที่มาซื้อกิจการต่อ

สินทรัพย์ที่ไม่จำกัดอายุการใช้งาน เช่น

1.เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า (Trademark and Trade name) หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มี 4 ประเภทดังต่อไปนี้

* เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น

* เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น

* เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น

* เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

6.ค่าความนิยม (Goodwill) หมายถึง คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการนั้นเอง คุณค่าที่เกิดขึ้นจนเป็นค่าความนิยมคือความสามารถในการหารายได้มากกว่ากิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน เกิดจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า สถานที่ตั้งกิจการอยู่ในทำเลที่ดี การบริหารงานดีเป็นที่เชื่อถือ ประสิทธิภาพในการผลิตดี ผลประกอบการดี ทำกิจการค้ามานานจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความเชื่อถือ และเกิดจากการผูกขาดทำกิจการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เช่น ชาเขียวโออิชิ เป๊ปซี่ ฯลฯ กิจการที่ได้รับความนิยมจะตีราคาค่าความนิยมของตนเองขึ้นมาเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกไว้ในบัญชีของกิจการไม่ได้

ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้โดยการซื้อกิจการมาและกำหนดค่าความนิยมขึ้นจากการซื้อกิจการนั้นเท่านั้น มูลค่าของค่าความนิยมเกิดจากการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการ เงินที่จ่ายเกินไปกว่าทุนของกิจการ (สินทรัพย์-หนี้สิน) ถือว่าเป็นต้นทุนของค่าความนิยม การจำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีเมื่อซื้อกิจการผู้อื่นมาดำเนินงานต่อโดยมีค่าความนิยมและได้บันทึกค่าความนิยมในบัญชีเรียบร้อยแล้ว กิจการจะคงค่าความนิยมไว้ในบัญชีต่อไป โดยถือว่าค่าความนิยมเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุไม่จำกัด ตราบใดที่ค่าความนิยมยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คงจำนวนค่าความนิยมไว้ในบัญชีตลอดไป แต่เมื่อไรเจ้าของกิจการคิดว่าค่าความนิยมเริ่มลดลง อาจเป็นเพราะการบริหารงานเริ่มไม่ดี มีคู่แข่งที่ดีกว่า ฯลฯ เจ้าของกิจการอาจจะประมาณว่าค่าความนิยมจะคงอยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ให้จำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับกรณีการประเมินค่า เช่น การวัดค่าความนิยม แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1.ค่าความนิยมแสดงถึงทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ซึ่งให้ประโยชน์ต่อกิจการในด้านจุดเด่นโดยเฉลี่ยของกิจการเกินระดับปรกติในด้านต่างๆ เช่น ความชำนาญ ความรอบรู้ทางเทคนิค การบริหารงาน การวิจัยและการส่งเสริมทางด้านการตลาด เช่น ร้านตัดผมร้านหนึ่งอาจมีคนเข้าไปใช้สอยมากเป็นพิเศษ จึงมีค่าความนิยมสูงกว่า

2.ค่าความนิยมแสดงถึงกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเกินกว่ากำไรปรกติในอนาคต

โดยวิธีการกำหนดค่าความนิยมมีหลายวิธีดังนี้

1.ตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกิจการ

2.ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปรกติเป็นหลัก คูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะมีกำไรเกินปรกติต่อไป

3.ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปรกติเป็นหลัก และคิดว่าถ้าต้องการให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าจำนวนนี้จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด

นี่คือสิ่งที่เราท่านในฐานะที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินพึงเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนหรือจับต้องมิได้ เพราะแม้จับต้องมิได้ก็มีมูลค่าที่แน่นอน


You must be logged in to post a comment Login