- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
โชว์ชุดต่อไป กฎหมายากล? (กฎหมาย+มายากล)
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 19-26 เมษายน 2562)
ผ่านมาเกือบ 1 เดือน แต่ผลการเลือกตั้งเป็นเหมือน “ลิงแก้แห” เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ตัดสินใจสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ กลับยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะที่ผลการเลือกตั้งหลายเขตก็ส่อว่ามีปัญหา ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. ยิ่งมีมากขึ้น
นอกจากการรณรงค์ให้ถอดถอน กกต. ของภาคประชาชนและกลุ่มต่างๆแล้ว นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ยังยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะสงสัยว่า กกต. ทำผิดกฎหมาย
ประชาชน 80% ให้ กกต. สอบตก
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง “การเมืองแบบเดิมกับความสงบสุข” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 3,661 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-15 เมษายน 2562 ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 80.1 เห็นว่า กกต. สอบตกในการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 19.9 ระบุว่าสอบได้
กว่าร้อยละ 70 เห็นว่าการเมืองแบบเดิม นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก จะนำปัญหาขัดแย้งให้กับคนในสังคมค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด จะได้รับการยอมรับจากการเมืองฝ่ายต่างๆค่อนข้างน้อยถึงไม่ยอมรับเลย ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 96.9 อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 เห็นด้วยต่อการนำความขัดแย้งต่างๆไปคุยกันในแกนนำฝ่ายการเมืองมากกว่านำความขัดแย้งมาสู่กลุ่มประชาชน
กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
หลังจาก กกต. มีมติเอกฉันท์ (11 เมษายน) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการใช้สูตรของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคเล็กได้ 1 คน ไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีให้ได้สิทธิได้ ส.ส. ได้หรือไม่ โดยเอกสารชี้แจงของสำนักงาน กกต. ระบุว่า กกต. พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 แล้ว โดย กกต. ทั้ง 7 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าจะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่
โดย กกต. พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วมีความเห็นว่า แม้การคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 แล้ว จะมีหลายพรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้เบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน และสามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กรธ. ก็ตาม แต่การคำนวณตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) (4) เนื่องจากมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส. เกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) แต่หากคำนวณหาจำนวนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จะไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน
ทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนเช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส. ได้ 150 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 ได้
กกต. เห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) และ (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรค (1) และ (2) ว่า เมื่อ กกต. จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 150 คน ดังนั้น กกต. จะคำนวณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน กกต. จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 หรือไม่
ประธาน กกต. ยอมรับถึงทางตัน
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนยันว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นวิธีดำเนินการที่เหมาะสมและจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส. ร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะไม่ขอก้าวล่วงอำนาจวินิจฉัยของศาลว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมหรือไม่ตามกรอบกำหนดวันประกาศรับรอง ส.ส.
นายอิทธิพรกล่าวว่า หากคำนวณตามวิธีการของ กรธ. ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เบื้องต้นจะมีอย่างน้อย 25 พรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ทำให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน เพราะนำเศษทศนิยมมาคิด ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันถึงเลขทศนิยมที่น้อยกว่า 1 เช่น 0.8 จะถือว่าเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีหรือไม่ เพราะศูนย์อยู่ข้างหน้า ผู้รู้คณิตศาสตร์บอกว่าเลขศูนย์เป็นเลขที่นำมาคำนวณได้ แล้วอยู่ๆจะไปตัดทิ้ง โดยการคำนวณตามมาตรา 91 ในครั้งนั้นไม่มีใครคิดว่าจะมีพรรคใดได้จำนวน ส.ส. มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งวิธีการนี้ก็มีวิธีติดไว้ข้างฝานานแล้ว
นายอิทธิพรกล่าวอีกว่า เมื่อนำมาตรา 128 และมาตรา 91 มาพิจารณา กกต. คงต้องถือตัวอักษรที่ระบุในกฎหมาย ส่วนการตีความตามเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา เมื่อตัวอักษรเขียนแบบนี้คงถึงทางตันที่ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้เองได้ จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัย เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ ซึ่งการที่ กกต. จะประกาศผลนั้นจะต้องมีความมั่นใจว่าจะดำเนินการขัดกฎหมายหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้คำปรึกษา
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็น (11 เมษายน) ผ่านรายการ “คนเคาะข่าว” ช่อง “นิวส์วัน” กรณี กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ว่า เป็นห่วงว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับพิจารณาในตอนนี้ เพราะหลักของการมีศาลรัฐธรรมนูญคือวินิจฉัยอะไรที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การไปให้ตีความตอนนี้เหมือนไปขอคำปรึกษา โดยหลักจะไม่ให้คำปรึกษา จนกว่า กกต. จะใช้อำนาจหน้าที่ตัวเองไปก่อนแล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยจึงไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมองเห็นผลว่าถ้าปล่อยไปถึงวันที่ 9 พฤษภาคมจะเกิดปัญหา ก็ต้องดูกฎหมายว่ามีข้อไหนที่จะรับเรื่องจาก กกต. ได้ จากนั้นจึงจะวินิจฉัยว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ถ้าให้หยุดประกาศผลเพื่อรอคำวินิจฉัยก็จะเกิดข้อร้องเรียนซ้อน เพราะกฎหมายระบุว่าจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน ศาลจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
4 แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแสดงความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นไปได้กรณี กกต. ขอให้วินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจมี 4 แนวคำวินิจฉัยคือ
แนวคำวินิจฉัยที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น การโต้แย้ง และการอภิปรายถกเถียงถึงแนวทางของวิธีการคำนวณที่ กกต. จะนำมาใช้เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณาเพราะไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับไว้พิจารณา
แนวคำวินิจฉัยที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดยเหตุผลอย่างแนวคำวินิจฉัยที่ 1
แนวคำวินิจฉัยที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยว่า กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนด โดย กกต. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ไม่ได้วินิจฉัยรับรองวิธีการคำนวณที่ กกต. จะนำมาใช้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. เป็นการเฉพาะ
แนวคำวินิจฉัยที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยในแนวทางว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ครบ 150 คน ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งมีคำวินิจฉัยรับรองอำนาจหน้าที่และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต. เสนอให้ศาลพิจารณาว่าเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128
นายธนกฤตได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตามแนวคำวินิจฉัยที่ 4 ก็จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อๆไปด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองและทิศทางในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อ กกต. มากที่สุด ทำให้ กกต. อยู่ในเขตปลอดภัยหรือ Safety Zone
กกต. ชุดนี้ขาดความน่าเชื่อถือ
นายสมชัย จึงประเสริฐ อดีต กกต. ให้สัมภาษณ์ (15 เมษายน) ถึงการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งของ กกต. ชุดปัจจุบันว่า ส่วนตัวมองว่า กกต. ชุดนี้ไม่ได้แบ่งงานกันทำให้ชัดเจน เนื่องจากแต่ละคนมีงานทำเป็นจำนวนมาก ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปในด้านหนึ่งด้านใดอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาด้านความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก สิ่งที่เผชิญอยู่คือการทำงานที่ไม่เคลียร์ เมื่อตอบเรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ชัดเจนทำให้ผู้คนเกิดความสงสัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เมื่อตอบไม่เคลียร์พูดอะไรคนก็จะไม่เชื่อ นี่ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก
นายสมชัยย้ำว่า กกต. ต้องกอบกู้ความน่าเชื่อถือให้ได้ เพราะตอนนี้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว ต้องทำให้สังคมกลับมามีความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ กกต. และต้องแบ่งงานกันทำให้ชัดเจน ไม่ปล่อยให้เหมือนที่ผ่านมา
ทำทุกอย่างเพื่อได้เป็นรัฐบาล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ประธานยุทธศาสตร์ กทม. และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ (14 เมษายน) ถึงกระแสข่าวคนในพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค จะมาร่วมตั้งรัฐบาลว่า ทุกอย่างต้องรอการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พฤษภาคม เนื่องจาก ส.ส. บางพรรคอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1-2 ที่นั่ง จึงต้องรอให้ทุกอย่างนิ่งและชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะคุยกันยาก แต่เราจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ ส.ส. เกิน 251 เสียง เพื่อให้สามารถทำงานในสภาได้ แต่จะมีใครร่วมงานบ้างขอรอความชัดเจนหลังวันที่ 9 พฤษภาคมก่อน
คำพูดของนายพุทธิพงษ์ทำให้กระแสข่าวพรรคเศรษฐกิจใหม่จะมี “งูเห่า” จึงอาจเป็นไปได้ แม้แต่นายมิ่งขวัญเองวันนี้ก็ยังเก็บตัวเงียบท่ามกลางการปล่อยข่าวการต่อรองตำแหน่งในรัฐบาล ไม่เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกเป็น 2 ขั้วชัดเจน แม้จะรอการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่โอกาสที่จะเกิด “งูเห่า” ก็มีสูง
ประชาธิปัตย์เละเป็นโจ๊ก
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊คถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความขัดแย้งภายในเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านอิสระว่า เป็นพรรคที่มีสภาพระส่ำระสายที่สุด ยังไม่รวมพวกเดินเกมใต้ดินเงียบๆรอจังหวะบวกอีก สรุปพรรคประชาธิปัตย์ “เละเป็นโจ๊ก” เสียงแตก ต่างคนต่างเดิน ไม่มีใครคุมพรรคได้ จนทุกคนเป็นหัวหน้าพรรคหมด ทั้งๆที่มักจะอ้างทุกครั้งว่าพรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของสั่งได้ (แต่หากไม่มีใครสั่งได้ แล้วต่างคนต่างสั่ง ก็คงยุ่งเละเทะแบบนี้นี่เอง) เป็นพรรคสถาบันทางการเมือง แต่ยังยึดติดตัวบุคคล
มักอ้างมติพรรค แต่เที่ยวนี้หากมติพรรคไม่ถูกใจ ไม่ร่วมรัฐบาล สมาชิก ส.ส.พรรครังแตกแน่ ทะเลาะกันในพรรค แต่บอกแค่ความคิดเห็นที่แตกต่าง บอกว่ามี “อุดมการณ์ทางการเมืองมั่นคง” แต่กลับเป็นพรรคที่ทะเลาะกันเรื่องจะไปร่วมรัฐบาลมากที่สุด เสียงแตกมากที่สุด
นายชูวิทย์ย้ำว่า ประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ย่อมรู้สึกผิดหวัง เพราะเลือกเพื่อไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจ หาเสียงโชว์วิสัยทัศน์เอาไว้ แต่พอหลังเลือกตั้งได้ ส.ส. น้อย กลับบอกว่าอดีตหัวหน้าพรรคพูดคนเดียว ไม่ใช่มติพรรค ต้องไปร่วมรัฐบาลกับลุงตู่ เรื่องสืบทอดอำนาจลืมๆไปได้แล้ว แถมยังมีว่าที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทั้งบางคนยังบอกสนับสนุนให้จัดรัฐบาลแห่งชาติอีก แล้วจะมีเลือกตั้งไปทำไม?
นายชูวิทย์ยังบอกว่า ไม่สงสัยเลยว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงแพ้การเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า แพ้จากภายในพรรคนี่เอง พรรคประชาธิปัตย์ต้องไม่เล่นการเมืองมากเกินไป ฆ่ากันเอง แบ่งพรรคแบ่งพวกภายใน ก๊วนสำคัญกว่าพรรค ที่สำคัญ “ปฏิเสธความจริง”
การเป็นฝ่ายค้านไม่ได้หมายความว่าไม่ประสบความสำเร็จหากเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ค้านทุกเรื่องตั้งแต่ตะปูไปยันเรือรบแบบในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ควรก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมที่ตกต่ำเสียแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่มัวแต่ทะเลาะกัน แก่งแย่ง แตกแยก ชิงดีชิงเด่น อยากได้อยากมี มันผิดที่ผิดเวลา “คนเขาเห็นแทนที่จะสงสารกลับสมเพช”
รัฐบาลแห่งชาติ
การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. เป็นอันดับ 2 และต้องการทุกเสียงของพรรคขนาดเล็ก พรรคพลังประชารัฐต้องการรวบรวม ส.ส. ให้ได้ 251 เสียงขึ้นไป เพื่ออ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลและตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ได้เสียง 376 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังมี 250 ส.ว. ที่จะเป็น “ดาบสอง” ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ อ้างว่า ผู้เขียนรัฐธรรมนูญออกแบบ 250 ส.ว.ลากตั้งช่วย “ดับไฟการเมือง” แต่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอกกลับว่านายสมศักดิ์มโนไปเอง เพราะ 250 ส.ว. ไม่ได้มีที่มาจาก กรธ. แต่มาจากคำถามพ่วงโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.
นายชาติชายยังกล่าวถึงข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ว่าเป็นไปได้ยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย รัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ต้องมีวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงและจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ
การปล่อยข่าวตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อผ่าทางตันทางการเมืองจึงมีเสียงคัดค้านดังกระหึ่ม แม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่มี 250 ส.ว. ที่พร้อมจะสนับสนุน “ลุงฉุน” เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพที่ออกมาโชว์พลังอย่างต่อเนื่อง
การแย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีการปล่อยข่าวต่างๆยิ่งสะท้อนให้เห็นการเมืองน้ำเน่าที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งหนีไม่พ้นข่าวการต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการซื้อตัว ส.ส. อย่างไร้ยางอาย แม้จัดตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพและไร้ยางอาย ผู้นำรัฐบาลก็ถูกมองว่าไร้ศักดิ์ศรีและไร้ยางอาย
กฎหมายากล? (กฎหมาย+มายากล)
ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ หากการตั้งรัฐบาลผ่าทางตันไม่ได้ หรืออาจมี “ข้อมูลพิสดาร” ที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ รัฐบาล คสช. ก็จะยังอยู่ในอำนาจต่อไป
การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี กกต. ยื่นให้พิจารณาสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงถูกจับตามองว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร จะเกิด “อภินิหารทางกฎหมาย” หรือมี “มายากลมนต์วิเศษ” เหมือนครั้งกรณีนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะการตีความตามพจนานุกรมคำว่า “ลูกจ้าง” จากการทำรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” อีกหรือไม่?
สถานการณ์ทางการเมืองที่รอผลการเลือกตั้งอีกหลายสัปดาห์กว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม จึงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงการให้ใบเหลือง ใบส้ม และใบแดงของ กกต. ขณะที่ คสช. ก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับฝ่ายที่เห็นต่างหรือต่อต้านการสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง สื่อ หรือนักวิชาการ
ที่สำคัญรัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึง “มาตรา 44” ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สถานการณ์ทางการจึงพลิกได้ตลอดเวลา เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ “ระบอบพิสดาร”
โชว์ชุดต่อจาก “อภินิหารทางกฎหมาย” จะมาในรูปแบบ “มายากล” ชุดใหม่ ด้วยเวทมนตร์จนกลายเป็น “กฎหมายากล” หรือไม่ คงได้ชมกันเร็วๆนี้!!??
You must be logged in to post a comment Login