วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไปคิดมาใหม่

On April 19, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 19 เม.ย. 62)

ทางออกเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลยังถูกโยนหินถามทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฟากฝั่งที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ข้อเสนอล่าสุดที่ตั้งใจตัดรำคาญเรื่องการรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกินครึ่งของสภาที่มีการต่อรองกันสูงคือให้บิดรัฐธรรมนูญมาตรา 270 มาใช้ เพื่อดึง ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงมาร่วมโหวตกฎหมายทุกฉบับในสภา แม้จะเป็นทางออกหนึ่งแต่ไม่ใช่ทางออกถาวร ใช้พร่ำเพรื่อไม่ได้ ทำให้ต้องกลับไปคิดหาหนทางกันใหม่ โดยทำควบคู่ไปกับการพยายามรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกินครึ่งของสภา

ประเทศกูมี!

อดีตผู้สมัคร ส.ส. ยื่นเรื่องให้ยุบพรรคตัวเอง เพราะเห็นว่าพรรคไม่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นอิสระ ถูกบุคคลภายนอกครอบงำ

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่แม้จะมีว่าที่ ส.ส. เพียง 6 ที่นั่งในสภา แต่ถือเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรค ประกาศเจตนารมณ์ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่อีกกลุ่มในพรรคกลับอยากร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

จะเข้าตำราหัวไปทางหางไปทาง คุยกันไม่รู้เรื่องเผาบ้านทิ้งให้รู้แล้วรู้รอดหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง

สำหรับอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคที่ไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคตัวเอง ประกอบด้วย น.ส.อุลัยพร ไตรวงค์ย้อย นายประยงค์ สร้างศรีหา และนายคมกฤษ สุภักดี

เปิดวาร์ปมาที่ข้อเสนอพิสดารของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้บิดมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญมาใช้ เพื่อดึงเสียง ส.ว.ลากตั้ง 250 คน มาเป็นเสาค้ำยันเพิ่มความแข็งแรงให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐในสภา ยกข้ออ้างเรื่องเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่กฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาร่วมกันทั้ง 2 สภา

กรณีนี้แม้ในทางทฤษฎีจะทำได้หากหน้าด้านพอ แต่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็นไปได้ยากถึงยากมาก

แม้แต่มือกฎหมายรัฐบาลอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่าไม่ง่าย พร้อมยกตัวอย่างหากรัฐบาลส่งกฎหมายเข้าสภา 100 ฉบับ จะอ้างว่าเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปทั้งหมดเพื่อดึงเสียง ส.ว. มาร่วมพิจารณาด้วยคงไม่ได้

“กฎหมายใดที่รัฐบาลบอกไปยังสภาว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องประชุมร่วมกันอยู่แล้ว แต่มีบางฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าต้องไปดึง ส.ว. มาร่วม หรืออันธพาลเสียงมากลากไป เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าถ้าเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องประชุมร่วม ไม่เช่นนั้นการประชุมจะเป็นโมฆะอยู่แล้ว แต่คงไปทำแบบนี้กับกฎหมายทุกฉบับไม่ได้ มาตราดังกล่าวไม่ใช่ทางออกที่หมดจด แต่การมีเสียงข้างมากนั่นแหละที่จะเป็นทางออกที่หมดจด”

ฟังจากน้ำเสียงนายวิษณุแล้ว ปาฏิหาริย์กฎหมายตามข้อเสนอของนายไพบูลย์จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

ทางออกที่ดีที่สุดตามความคิดของนายวิษณุคือ ไปรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก่อน เพราะถ้าดันทุรังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยคงพังตั้งแต่นัดแรกที่เสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภา เพราะมองมุมไหนก็ไม่เข้าเหลี่ยมเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่จะลาก ส.ว. มาร่วมโหวตได้


You must be logged in to post a comment Login