วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พันคอตัวเอง?

On April 23, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  23 เม.ย. 62)

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้อง มีผลให้กระทรวงคมนาคมต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด “อนุญาโตตุลาการ” จ่ายคืนเงินประมาณ 12,000 ล้านบาทให้ “โฮปเวลล์” โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท

กรณี “โฮปเวลล์” ทำให้ย้อนนึกถึงคำเตือนของ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว (22 มีนาคม) ระบุกรณีที่หน่วยงานต่างๆพยายามตีความให้ตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารของ “ทั่นผู้นำ” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตจากการใช้อำนาจพิเศษ “มาตรา 44” สั่ง “ปิดเหมืองแร่ทองคำ” บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ที่ถือประทานบัตรอนุญาตทำเหมือง และได้ยื่นฟ้องทางการไทยต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้ชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 30,000 ล้านบาท

“ทั่นผู้นำ” มั่นใจว่าการใช้ “มาตรา 44” ในประเทศนี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เพราะกฎหมายคุ้มครอง แต่ประเด็นที่เป็นข่าวขณะนี้คือ กรณีที่ “เนติบริกร” และ “องค์กรอิสระ” ตีความว่า “ทั่นผู้นำ” ไม่ได้เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” เพื่อไม่ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 98 (15) การเสนอชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อ”

หาก “ทั่นผู้นำ” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” การออกคำสั่งทางปกครองปิดเหมืองทองก็จะไม่มีกฎหมายรองรับ ก็เท่ากับเป็น “คำสั่งทางปกครองเถื่อน” (ตามหลักสากล) เพราะหลัก Pacta Sunt Servanda เป็นหลักการที่กฎหมายระหว่างประเทศยึดถือดั่ง “กฎเหล็ก”

เทคนิคทางกฎหมายมีความซับซ้อน แม้ใน “ประเทศกูมี” อาจมี “อภินิหารทางกฎหมาย” แต่กฎหมายระหว่างประเทศ “กฎหมายคือกฎหมาย” ไม่ได้เลือกปฏิบัติและตกหล่น “ย.ยักษ์” เหมือน “ประเทศกูมี”

กรณีคำสั่ง “ปิดเหมืองแร่ทองคำ” ที่ลงนามโดย “ทั่นผู้นำ” หากไม่ใช่คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ ใครต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท?

 


You must be logged in to post a comment Login