- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ใครจะรับผิดชอบ
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23 เม.ย. 62)
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินชดเชยให้เอกชนที่ไปบอกเลิกสัญญาสัมปทานก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์โดยมีตัวเลขสูงถึงหมื่นกว่าล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ยนั้น โครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ทั้งคนริเริ่มโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบอกเลิกสัญญาจนเป็นที่มาของการฟ้องร้องคดี เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นมหาศาลแบบนี้ คำถามที่สังคมต้องการคำตอบคือ ควรต้องมีใครรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่
ยังจำโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เรียกว่า “โฮปเวลล์” ได้หรือไม่
โครงการนี้มีแต่เสาตั้งประจานผู้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยรัฐบาลไทยได้บอกเลิกสัญญากับผู้ได้รับสัมปทานจนถูกเอกชนที่รับสัมปทานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาตามขั้นตอน
จนเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) กระบวนการยุติธรรมเดินทางมาถึงจุดสุดท้าย โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้อง มีผลให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
ร.ฟ.ท. ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ ร.ฟ.ท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันคดีถึงที่สุด
ถ้าถามว่าใครต้องรับผิดชอบหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องจ่ายชดเชยให้ผู้รับสัมปทานบ้าง ก็คงต้องไปไล่เรียงดูว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือที่เรียกว่า “โฮปเวลล์” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้ง 2 คนได้เสียชีวิตไปแล้ว
ผู้ที่ชนะการประมูลโครงการนี้คือบริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างจากฮ่องกง ใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 80,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้างโครงการนาน 8 ปี ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2534-5 ธันวาคม 2542 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร โดยมีอายุสัมปทานโครงการนาน 30 ปี
หลังการปฏิวัติยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำการตรวจสอบสัญญาสัมปทานก่อนประกาศล้มโครงการ
ในรัฐบาลที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากที่บริษัทหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540
อย่างไรก็ตาม โครงการมาสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541
ไล่เรียงมาให้ดูก็เพื่อให้เห็นว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน
ส่วนใครจะต้องรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่กับเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้เอกชน ซึ่งรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินก้อนโต ก็คงต้องรอผู้มีอำนาจทั้งหลายออกมาชี้แจงกับประชาชน
ประเทศเสียทั้งเงิน เสียทั้งโอกาสในการพัฒนาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็ควรจะต้องมีคนแสดงความรับผิดบ้างไม่มากก็น้อย…จริงหรือไม่
You must be logged in to post a comment Login