วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คุก3ปีไม่รออาญาพร้อมออกหมายจับ”ทักษิณ”ปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ให้พม่า

On April 23, 2019

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะคดีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่เห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า (เมียนมา) ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัทชินแซทเทลไลท์ที่เป็นบริษัทในเครือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 องค์คณะมีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2551 แล้วนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อจะสอบคำให้การนายทักษิณในวันที่ 16 กันยายน 2551 แต่ปรากฏว่าขณะนั้นนายทักษิณไม่มาศาล เนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศในคดีอื่นแล้ว องค์คณะจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะนายทักษิณไว้ชั่วคราว และให้ออกหมายจับตามตัวมาดำเนินคดีนับตั้งแต่นั้น กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯให้นำคดีดังกล่าวที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากนายทักษิณ จำเลย หลบหนีไปพำนักต่างประเทศขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล และมีการออกหมายจับจำเลยแล้วยังไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

ซึ่งวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 องค์คณะได้พิจารณาคดีครั้งแรกนี้ใหม่ โดยนายทักษิณ จำเลย ไม่แต่งตั้งผู้ใดรับมอบอำนาจมาศาลแทน เมื่อนัดพิจารณาครั้งแรกนายทักษิณ จำเลย ไม่มาศาล ศาลถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม. มาตรา 33 (บัญญัติว่าในวันพิจารณาครั้งแรก ในกรณีที่จําเลยมิได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ) ซึ่งองค์คณะได้ดำเนินการไต่สวนพยานของ ป.ป.ช. โจทก์ โดยไม่มีตัวจำเลยมาตลอดกระทั่งนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ องค์คณะพิพากษาว่า นายทักษิณ จำเลย มีความผิดตามฟ้องมาตรา 152 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอดีตนายกฯ ทักษิณนั้นปัจจุบันคงเหลือคดีที่กำลังพิจารณาไต่สวนโดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมายใหม่ ประกอบด้วย

1.คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 กล่าวหาเห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

2.คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กล่าวหาร่วมผู้บริหารธนาคาร-เอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครกว่า 9.9 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 คดีอัยการสูงสุดยื่นฟ้องเมื่อปี 2551 และ 2555

3.คดีหมายเลขดำ อม.1/2551 ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551 กล่าวหาร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลออกนโยบายออกสลากเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน) โดยมิชอบ


You must be logged in to post a comment Login