วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐบาล เปิดตัวยิ่งใหญ่แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน“รามาวตาร”ฉบับภาษาอินโดนีเซีย

On April 24, 2019

วันที่ 24 เมษายน 2562 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดตัวและจัดฉายภาพยนตร์แอนิเมชันรามเกียรติ์ ตอน “รามาวตาร”ภาษาอินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกในกลุ่มสมาชิกอาเซียน  พร้อมจัดแสดงหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ และนิทรรศการเกี่ยวกับภาพยนตร์แอนิเมชันรามเกียรติ์ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมด้วย โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เป็นประธานเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชันรามเกียรติ์ตอน“รามาวตาร”ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ต้อนรับและร่วมชมภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีประชาชน เด็กและเยาวชนชาวอินโดนีเซีย ให้ความสนใจเข้าร่วมชมภาพยนตร์   แอนิเมชั่นจำนวนมาก ณ Usmar Ismail Hall กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

2

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Art: AMCA) ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้ประกาศให้ปี 2562             เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเซียนร่วมกันใช้มิติวัฒนธรรมเป็นสื่อส่งเสริมความเข้าใจตระหนักรู้ และความภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของอาเซียน ตลอดจนสร้างความสามัคคีปรองดองและเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีในภูมิภาคอาเซียนผ่านมิติทางวัฒนธรรมร่วมกัน

4

ดังนั้นในปี 2562 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากรามายณะ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งเมียนมา กัมพูชา ลาว ไทย และอินโดนีเซีย มาจัดทำเป็นสื่อสมัยใหม่ สร้างสรรค์ตัวละครจากภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดรามเกียรติ์อันรายล้อมรอบระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว กว่า 178ห้อง สร้างเป็นภาพยนตร์ให้มีการเคลื่อนไหวที่พัฒนามาจากท่าทางการแสดงโขน ด้วยนวัตกรรมสื่อสมัยใหม่ ประกอบกับเทคนิคพิเศษของแอนิเมชั่นมาถ่ายทอดเรื่องราวให้น่าติดตามภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจในเนื้อหาสาระง่ายสอดคล้องกับยุคสมัยและเป็นการอนุรักษ์ พัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้มีคุณค่าและเป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

5

ที่สำคัญนอกจากเป็นกิจกรรมหนึ่งในการประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นบัญชีโขนในประเทศไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและนานาชาติได้เข้าถึงภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน โดยมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากร ใน    ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นคณะผู้แทนรัฐบาลด้านวัฒนธรรม บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางด้านวัฒนธรรม ศิลปิน และบุคคลที่มีบทบาทในด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีการเพิ่มพูนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกันในสาขาทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายมาโดยตลอด

6

 


You must be logged in to post a comment Login