วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศธ.ชูหลักคิด “5ร” ขับเคลื่อน 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ

On April 25, 2019

กระทรวงศึกษาธิการ มอบแนวทางการวางแผนขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล(1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิด “5ร แห่งความสำเร็จ คือ ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน และเรียบร้อย” เสริมสร้างความเข้มแข็งคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบแนวทางการวางแผนขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลอย่างมีประสิทธิภาพ แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ว่า ให้ผู้บริหารและผู้อำนวยการโรงเรียน น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งถือว่ามีคุณค่ายิ่งต่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักในการทำงาน โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา ใช้เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต ที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รู้ รัก สามัคคี และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

2

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้หลักคิด “5ร แห่งความสำเร็จ คือ ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน และเรียบร้อย” นำไปใช้ในการทำงานวางแผนการดำเนินงาน การปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ครบถ้วนตามบริบทของพื้นที่และสังคม การพัฒนาครูเก่งครูดีมีจิตวิญญานความเป็นครู รวมทั้งสื่อการเรียนการสอน พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน บ้าน วัด/มัสยิด ภาครัฐ และโรงเรียน สิ่งสำคัญคือการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เกิดโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กระจายอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง เพื่อที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชน จะได้มีโรงเรียนดี ๆ ให้การศึกษาแก่ลูกหลานในพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนในอำเภอหรือจังหวัดอีกต่อไป ซึ่งนี่คือเป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ

3

ในส่วนของการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมานายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จนเกิดความก้าวหน้าและบรรลุตามนโยบาย ซึ่งพบว่าสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์การศึกษาของสถานศึกษาในทั้ง 3 จังหวัดให้สูงขึ้น และประชาชนในพื้นที่ก็มีความพึงพอใจต่อการจัดการศึกษาอยู่ในระดับมาก

4

“ในปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการจึงพร้อมที่จะขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาให้เป็น “ปีแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม” โดยดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ  เน้นการบูรณาการความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาคเอกชน บ้าน วัด/มัสยิด ภาครัฐ และโรงเรียน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการอย่างเข้มแข็ง เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนงานต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ มีความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีงานทำ และเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปจนถึงทางเศรษฐกิจของสังคมและประเทศต่อไป” นายสันติ แสงระวี กล่าวสรุป

5


You must be logged in to post a comment Login