วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นรกชังหรือสวรรค์แกล้ง?

On April 25, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  26 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2562 )

ประเด็นการเลือกตั้งยังอึมครึมและร้อนระอุตราบที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งครบรอบ 1 เดือน กกต. ก็ยังให้ความชัดเจนผลการเลือกตั้งไม่ได้เลย การจัดตั้งรัฐบาลและใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังอึมครึม ทำให้ กกต. ชุดปัจจุบันยิ่งสะท้อนถึง “วิกฤตองค์กรอิสระ” ที่อาจนำไปสู่ “วิกฤตประเทศ” อีกครั้ง

ขณะที่เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้รับคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมเป็นโมฆะไว้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน และได้ส่งหนังสือให้ กกต. ชี้แจงในประเด็นที่ผู้ร้องตั้งข้อสังเกตภายใน 7 วัน เนื่องจากเป็นประเด็นเร่งด่วนและอยู่ในความสนใจของสาธารณชน และจะครบกำหนดในวันที่ 25 เมษายนนี้

นายรักษเกชากล่าวว่า ถ้า กกต. ส่งคำชี้แจงกลับมา ทางสำนักงานจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ทันทีเพื่อให้ทันวันที่ 9 พฤษภาคมที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ยืนยันว่าการพิจารณาคำร้องจะทำด้วยความรอบคอบ ตอบข้อสงสัยได้ หากมีข้อยุติไปในทางใดทางหนึ่ง

กกต. แจ้งข้อกล่าวหา “ธนาธร”

ขณะที่ประเด็นร้อนทางการเมืองที่ยังมีอย่างต่อเนื่องคือ การกล่าวหาฟ้องร้องพรรคการเมืองฝ่ายที่ต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” และไม่เอา “ลุงฉุน” โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ที่กลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” ไม่ว่าจะเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

โดยล่าสุด (23 เมษายน) ที่ประชุม กกต. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการถือหุ้นจำนวน 675,000 หุ้น ในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อ เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมือง มาตรา 42 (3)

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดำเนินการต่อไปโดยให้นายธนาธรชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน ส่วนที่คณะกรรมการสืบสวนฯไม่ได้นำข้อมูลที่พรรคอนาคตใหม่นำมายื่นให้ประกอบการพิจารณานั้น เพราะเห็นว่าข้อมูลของคณะกรรมการสืบสวนฯครบถ้วนและมีมูลเพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ตามคำร้อง

นายแสวงยังปฏิเสธข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ ลาออกเพราะไม่เห็นด้วยนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเสร็จก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมนี้หรือไม่

ทั้งนี้ นายธนาธรมีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการชี้แจงแสดงหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา

“#ธนาธร” พุ่งขึ้นอันดับ 1

ขณะที่นายธนาธรได้ทวีตภาพตนเองสวมชุดกันเปื้อนหลัง กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุว่า ของที่ระลึกจากการไปเลกเชอร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟ์ เนเธอร์แลนด์ น้องๆนักศึกษาให้ “ผ้ากันเปื้อน” กับผม พร้อมอธิบายว่า “เห็นช่วงนี้โดนสาดโคลนบ่อย” ได้มาปุ๊บก็ได้ใช้ทันทีเลยครับ

วันเดียวกันช่วงเวลา 19.00 น. ในทวิตเตอร์ได้มีการติดแฮชแท็ก “#ธนาธร” พร้อมข้อความวิพากษ์วิจารณ์ถึงมติดังกล่าวเป็นจำนวนมากจนทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 โดยมีผู้ทวีตข้อความกว่า 100,000 ครั้ง

กกต.  ไม่ชี้แจงประเด็นวันโอนหุ้น

มติของ กกต. ครั้งนี้ทำให้มีคำถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะตั้งแต่มีข่าวกรณีการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย ระหว่างนายธนาธรและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน นายธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ได้ออกมาชี้แจงและแสดงเอกสารหลักฐานการโอนหุ้นหลายครั้งว่ากระทำในวันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนที่นายธนาธรจะลงสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์

การออกมาชี้แจงเกิดขึ้นสลับกับการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราว่า มีการแจ้งโอนหุ้นในวันที่ 21 มีนาคม จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่ตรงกับตราสารหุ้นที่นายธนาธรเปิดเผยต่อสาธารณะ การยึดว่าวันใดเป็นวันที่นายธนาธรโอนหุ้นจึงเป็นประเด็นสำคัญว่าจะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่

บทลงโทษ “ธนาธร” หากผิด

หาก กกต. มีความเห็นว่านายธนาธรมีความผิดตามที่ถูกร้องก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม กกต. สามารถมีมติสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายธนาธรชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี หรือแจก “ใบส้ม” โดยไม่ประกาศชื่อนายธนาธรเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

แต่ถ้ามีมติหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและนายธนาธรเป็น ส.ส. ไปแล้ว กกต. ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็น ส.ส. ของนายธนาธรสิ้นสุดลง ทั้งนี้ หาก กกต. มีมติว่านายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และถูกระงับสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 1 ปี ก็จะถูกส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษถูกตัดสิทธิ 20 ปี

กกต. ไม่มีอำนาจสอย “ธนาธร”

นายปิยบุตรแถลงหลัง กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรว่า ในวันสมัครรับเลือกตั้งนายธนาธรไม่ได้ถือหุ้นสื่อใดๆอีกแล้ว เมื่อมีสื่อมวลชนสำนักหนึ่งเอาข่าวมาเปิดเผยว่าโอนหุ้นในวันที่ 21 มีนาคม ถือเป็นการรายงานข่าวที่ผิดพลาดเอง เป็นเพียงแบบฟอร์มที่แจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น เพราะการโอนหุ้นจบไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมแล้ว

นายปิยบุตรกล่าวว่า น่าเสียดายที่ กกต. ไม่เปิดโอกาสให้เราไปชี้แจง จริงๆ กกต. มีอำนาจให้เราไปชี้แจง เมื่อไม่ได้ชี้แจงก็มีมติแจ้งข้อกล่าวหาทันที ยืนยันว่าช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. และลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การตรวจสอบคุณสมบัติเริ่มต้นในวันที่สมัครจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 1 วันก่อนวันเลือกตั้ง หลังจากนั้นถ้าเลือกตั้งไปแล้ว หากต้องการตรวจสอบคุณสมบัติสามารถตรวจสอบได้เฉพาะ ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น แบบบัญชีรายชื่อไม่มีกฎหมายฉบับไหนอนุญาตให้ตรวจสอบ หากจะตรวจสอบต้องตรวจตอนที่เป็น ส.ส. แล้ว จึงไม่มีช่องทางใดเหลือให้ กกต. มีอำนาจในการออกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงกับนายธนาธร หากจะใช้เหตุเรื่องการถือหุ้นสื่อก็ค่อนข้างผิดหวังและประหลาดใจ เพราะข้อกฎหมายทุกอย่างชัดเจนจริงๆ

“ถ้าองค์กรอิสระจริงๆ ไม่มีทางแจ้งข้อกล่าวหาเราด้วยเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากอยากสอยธนาธรต้องรอให้เป็น ส.ส. ก่อนแล้วจึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ กกต. ยืนหยัดในข้อกฎหมายและความยุติธรรม อย่าได้เกรงกลัวต่ออำนาจอื่นที่มากดดัน” นายปิยบุตรกล่าว

อย่าใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน

นายปิยบุตรยังกล่าวถึง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ที่ยื่นหนังสือถึง กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนกว่า 30 รายชื่อว่า จะดูแค่หนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ ต้องดูว่าถือหุ้นกิจการที่ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนจริงๆ ไม่ใช่ไปเปิดหนังสือบริคณห์สนธิที่เป็นแบบฟอร์มจากกระทรวงพาณิชย์ที่เขียนวัตถุประสงค์ครอบจักรวาล

หากจะนำเรื่องนี้มาระบุว่าใครถือหุ้นสื่อหรือไม่ คำถามคือเรื่องนี้ใช้สมเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ หากมีคนบังเอิญไปถือหุ้นในบริษัทที่หนังสือบริคณห์สนธิมีวงเล็บหนึ่งระบุว่าทำสื่อ แต่บริษัทประกอบกิจการอาหารสัตว์ แล้วมันเป็นการครอบงำสื่อตรงไหน การร้องเรียนว่าที่ ส.ส. 30 กว่าคนจาก 6 พรรคจึงต้องระวังให้ดี พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่าคิดว่าไม่มีเรื่องพวกนี้ ลองไปหาดูก็เจอ ตนเชื่อว่าผู้สมัครแต่ละคนก็มีบริษัทที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ทำสื่อ แต่หนังสือบริคณห์สนธิเขียนวัตถุประสงค์ไว้ คนที่ไปร้องเรียนก็ต้องระวังด้วยว่าอาจเข้าข่ายแจ้งความเท็จ หรืออีกฝ่ายไปร้องกลับบ้าง มันจะไม่จบ

“ผมอยากเรียนว่ากฎหมายแต่ละมาตราออกมามีวัตถุประสงค์ของมัน ใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ อย่าใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน หากจะใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งกันเรื่องคงไม่จบ การเมืองไทยเสียเวลากับเรื่องนี้มาสิบกว่าปีแล้ว มันควรเดินหน้าไปได้แล้ว สมองของมนุษย์และนักการเมืองที่ควรจะคิดเรื่องสร้างสรรค์ วันๆกลับต้องมาคิดแบบนี้ ผมเห็นบรรดานักร้องแต่ละคนที่ไปร้องเรียนกัน โอ้โห วันๆนี่ไม่ต้องคิดเรื่องสร้างสรรค์เลยนะ คิดอยู่อย่างเดียวใครไปถือหุ้นอันไหน ชีวิตไม่ต้องคิดเรื่องอื่นสร้างสรรค์แล้ว การเมืองไทยจะเอาแต่แบบนี้หรือ” นายปิยบุตรกล่าว

พิจารณาให้ใบส้ม “ธนาธร”

นายปิยบุตรยังกล่าวถึงการให้ใบส้มว่า มีความพยายามในการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณา มีผู้ยื่นคำร้องตามที่ปรากฏอยู่ในข่าว ถ้า กกต. จะดำเนินการพิจารณาจำเป็นต้องตรวจสอบมูลกรณี มีการสืบสวนและไต่สวน ช่วงก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. มีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบสำเนาเพื่อทำความเห็นต่อ กกต. ในกรณีของนายธนาธรมีผู้ไปร้องเรียน กกต. ก็บอกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 7 คน โดยการตรวจสอบมูลกรณีนี้มีระยะเวลาที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน หลังจากนั้นหากเห็นว่าไม่มีมูลก็จะยุติเรื่อง หรือเห็นว่ามีมูลที่จะต้องสืบสวนต่อก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสืบสวน กรณีของนายธนาธรตามที่เช็กจากข่าวพบว่ากำลังอยู่ในขั้นไต่สวน ซึ่งมีระยะเวลา 20 วัน และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง หลังจากไต่สวนเสร็จคณะกรรมการจะมีมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ หากแจ้งข้อกล่าวหาก็จะต้องเปิดโอกาสให้นายธนาธรชี้แจง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการเรียกพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธรไปชี้แจงเลย

ปัญหาคือ หาก กกต. เลือกจะใช้ช่องทางการออกใบส้มตามที่มีคนร้องเรียนมา พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดฝาผิดตัว

องค์กรอิสระนำไปสู่ทางตัน

นายปิยบุตรกล่าวว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ประชาชนได้ให้ความหวังไว้อย่างมาก เป็นเหมือนแสงสว่างรำไรหลังจากที่ถูกขังอยู่ในห้องมืดมา 5 ปี เพราะอย่างน้อยที่สุดการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาทางออกร่วมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นในการพาประเทศไทยกลับคืนไปสู่ระบอบประธิปไตย แต่หลังจากเลือกตั้งผ่านมา 1 เดือน กลับมีความพยายามสร้างบรรยากาศทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก ไม่มีความหวัง และนำไปสู่ทางตัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบรรยากาศที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู่ทางตัน พรรคการเมืองทุกพรรคเล่นตามกติกา

“บ้านเมืองจะถึงทางตันอย่างแน่แท้ถ้าหากบรรดาองค์กรอิสระต่างๆใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรม ใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายไปในทิศทางที่นำกฎหมายมาช่วยเหลือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากองค์กรอิสระทำแบบนี้บ้านเมืองจะไปสู่ทางตัน 14 ปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อครหาและสงสัยเรื่องพวกนี้จากสาธารณชนอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และมันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์การเมืองไทยด้วย” นายปิยบุตรกล่าว

ไร้ธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ โพสต์เฟซบุ๊คกรณีนายธนาธรถือครองหุ้นสื่อตอนหนึ่งว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การโอนหุ้นสมบูรณ์เมื่อมีการบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ทันทีที่โอน ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทจำกัดทั่วไปคือ แจ้งข้อมูลผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ต่อกระทรวงพาณิชย์ปีละ 1 ครั้งตามวาระการรายงานประจำปี ปรกติจะยื่นหลังปิดงบการเงินและประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ก่อนหน้านั้นจะโอนหุ้นกี่ครั้งก็ไม่ต้องแจ้ง แค่จดในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็พอ

น.ส.สฤณีระบุว่า เรื่องนี้จริงๆเป็นเรื่องขี้ผงมาก ไม่มีอะไรเลย ไม่มีเหตุใดๆให้ต้องสงสัยนายธนาธรว่าจัดทำเอกสารเท็จหรือซุกหุ้นต่อไป ซึ่งนายปิยบุตรในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ต้องออกมาชี้แจง เพราะ กกต. ไม่เคยเปิดโอกาสให้นายธนาธรไปชี้แจงด้วยตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ น่าเป็นห่วงมากและไร้ธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง เหตุใดหน่วยงานตรวจสอบจึงไม่เชิญผู้ที่ถูกกล่าวหามาชี้แจง? ปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนจะตัดสินอยู่แล้ว? แบบนี้จะเรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ได้อย่างไร?

หาก กกต. ตัดสินว่า “ผิด” ก็ต้องบันทึกไว้เลยว่าเป็นคำตัดสินที่ทุเรศเป็นอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์ ไม่เฉพาะของ กกต. เท่านั้น แต่รวมถึงประวัติศาสตร์ของหน่วยงานตรวจสอบทั้งมวลในประเทศนี้ด้วย

อาการ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน”

นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเปิดเป็นสาธารณะกรณีกฎหมายถือหุ้นสื่อว่า มีกฎหมายแต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมายก็เหมือนมีเรือแต่ไม่มีเข็มทิศ สุดแต่จะแล่นไปทางไหน เปะปะไร้ทิศทาง

นี่คือหนึ่งในอาการป่วยของประเทศไทย ซึ่งมีอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism) สังเกตดูง่ายๆว่า จะทำอะไรก็อ้างกฎหมายเต็มไปหมด แต่ไม่เกิดความยุติธรรม ความเป็นธรรมขึ้นมาเสียที

เรื่องห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเสพสื่อที่เป็นกลาง ปราศจากการครอบงำ ถ้าใครจำได้คุณทักษิณถูกกล่าวหาเรื่องการครอบงำสื่อมาตลอด เช่น พยายามจะซื้อหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลตนเอง เป็นต้น

ถามว่าสิบกว่าปีผ่านไปคุณภาพสื่อไทยพัฒนาขึ้นไหม ประชาชนคนไทยได้เสพสื่อที่มีคุณภาพ ซื่อตรง แม่นยำ ตรงไปตรงมา เป็นกลางมากขึ้นไหม คำตอบนี้ดูหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ถ้าไม่หลอกตัวเองก็รู้แก่ใจกันดี ตั้งแต่… เป็นอาทิ

มาตรานี้จึงไม่เคยถูกใช้สมดั่งเจตนารมณ์ เพราะเป้าหมายหลักหลบหนีเงื้อมมือกฎหมายไทยไปนานแล้ว ส่วนสื่อที่มีอิทธิพลทางการเมืองก็ไม่เข้าข่ายนี้เนื่องจากหลบเลี่ยงได้ มาตรานี้จึงถูกใช้ในกรณีประหลาด เช่น นิติบุคคลที่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รวมถึงการทำสื่อแต่ไม่ได้ทำจริงก็ถูกตัดสิทธิ หรือเจ้าของสื่อที่ปิดกิจการไปแล้วก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่สะอาดที่สุดในโลก ใครส่อแววจะโกงแม้แต่นิดเดียวต้องลงโทษเอาให้หนัก ส่วนใครที่โกงอยู่แล้วชัดเจนก็แล้วไป เชิญตามสบาย

โดมิโน่จะตามมาอีกมาก

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค (24 เมษายน) กรณีนายธนาธรถือหุ้นสื่อว่า ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระหว่างกรณีของนายธนาธรที่นิตยสารซึ่งเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง กับผู้ที่ลาออกจากสื่อที่มีอิทธิพลทางการเมืองแต่ยังมีบทบาทอยู่เบื้องหลังในสื่อดังกล่าว อะไรควรถือเป็นปัญหามากกว่ากัน

นายสมชัยบอกว่า ไม่ใช่ friend of thanatorn แต่อยากจะบอกว่าสังคมกำลังเดินทางผิดหรือไม่ เจตนาของการเขียนกฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อคือต้องการไม่ให้ใช้อิทธิพลของสื่อที่มีเพื่อการหาเสียง หาความนิยมเข้าตัวเข้าพรรค หรือใช้สื่อเพื่อทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม การลาออกจากสื่ออย่างเป็นทางการแต่กลับเป็นเบื้องหลังสำคัญในการบงการทิศทางสื่อให้เอียงข้างนั้นเลวร้ายกว่าการลืมลาออกจากสื่อที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลใดทางการเมืองหรือไม่ แต่เราไม่เคยนึกถึง

นายสมชัยเตือน กกต. ว่า เรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบสมควรทำกลับไม่คิดทำ แต่เรื่องเล็กที่ตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับสนใจที่จะกระทำ “โดมิโน่จากเรื่องนี้ยังตามมาอีกมาก ไม่เชื่อโปรดติดตาม”

วิกฤตรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ประเด็น กกต. และการจัดตั้งรัฐบาลยังอึมครึมต่อไป ยิ่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเด็ดขาด หลังจากลูกพรรคเศรษฐกิจใหม่ไปยื่นขอให้ยุบพรรคตัวเองในข้อกล่าวหาว่ามีคนนอกครอบงำพรรค เลยทำให้ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง

การแสดงจุดยืนทางการเมืองของนายมิ่งขวัญอย่างน้อยก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องใช้ทุกวิธีที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลและให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ อย่างที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ ยืนยัน (19 เมษายน) ว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้รัฐบาลและได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งแน่นอน ก็ยิ่งทำให้การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้พรรคเล็กได้ ส.ส. มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวการใช้เงินซื้องูเห่าและงูเขียวสูงหลายสิบล้านบาท ยิ่งมาเป็นก๊วนเป็นแก๊งก็จะมีเงินโบนัสและตำแหน่งทางการเมืองให้อีก

พรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเห็นแตกเป็น 2 ขั้ว ยิ่งทำให้หลายคนเชื่อว่าจะมีงูเห่าแน่ แต่กระแส “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลปรองดอง” ที่นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ จุดประเด็น ก็ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเป็นไปได้ยากมากหากไม่เกิดสถานการณ์พิเศษหรือเกิดเดดล็อกทางการเมืองจนทุกฝ่ายหาทางออกไม่ได้จริงๆ

ยิ่งเวลาตั้งรัฐบาลทอดยาว งูเห่าจะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงข้อเสนอของนายเทพไทว่า เป้าหมายคงต้องการให้เกิดกระบวนการต่อรอง รัฐบาลแห่งชาติในประเทศไทยมีนิยามความหมายหลากหลาย ไม่เหมือนรัฐบาลแห่งชาติของต่างประเทศที่เรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติเอกภาพ ซึ่งมีภาวะฉุกเฉินหรือเกิดสงคราม แต่รัฐบาลแห่งชาติถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการเมืองหรือต่อรองทางการเมือง หลายคนบอกว่าประชาธิปัตย์ถึงทางสองแพร่ง เอาหรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่มีทางไหนที่เป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงได้ยินเรื่องรัฐบาลแห่งชาติจากคนของพรรคประชาธิปัตย์

นายยุทธพรยังกล่าวถึงกระแสข่าวราคางูเห่าที่พุ่งหลายสิบล้านบาทว่า เป็นการพยายามตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของขั้วใหญ่ ซึ่งคงไม่ง่ายนักที่สังคมไทยจะแก้ไขเรื่องงูเห่า แม้สังคมอยากจะมีการเมืองในระบบรัฐสภา แต่อีกด้านหนึ่งยังมีการเมืองแบบไม่เป็นทางการ เป็นผลมาจากวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆที่นิยมพูดคุยนอกรอบ เจรจาใต้ดิน ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงต่อรอง งูเห่าจึงไม่เคยหายไปไหน ยิ่งเวลาการตั้งรัฐบาลทอดยาวออกไป งูเห่าก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผลประโยชน์รูปแบบอื่นๆ เช่น โควตารัฐมนตรีกระทรวงเกรดต่างๆ ประชาชนชนจึงต้องจดจำเอาไว้และลงโทษงูเห่าผ่านการเลือกตั้งโดยไม่เลือกเข้ามาอีก

นอกจากประเด็นรัฐบาลปรองดองหรือรัฐบาลแห่งชาติแล้ว ยังมีแนวคิดพิสดารของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้ใช้ช่องทางใช้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ให้ ส.ว. มีส่วนในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เป็นทางออกกรณีกฎหมายไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยแยกกฎหมายทั่วไปกับกฎหมายปฏิรูป แต่ทั้งฝ่ายการเมืองและนักกฎหมายก็รุมถล่มว่าเหมือนกำลัง “หลงป่า-หลงทาง” และผิดหลักรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

อย่างที่นายปิยบุตรกล่าวว่า ประเทศไทยอยากปกครองด้วยอำนาจการยกเว้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้กันอยู่ตลอดคือ อำนาจพิเศษ การยกเว้นทหารให้เข้ามา พอยกเว้นกันไปมาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปรกติแล้วก็อยู่จนชิน แต่สำหรับตนนี่คือพิษร้ายที่สุดที่มีการนำสิ่งแปลกๆเข้ามาในรัฐธรรมนูญจนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

สอน “ไพบูลย์” รู้จักแพ้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์มีขั้วเดียว เมื่อมีมติพรรคออกมาอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่มีงูเห่าโดยเด็ดขาด ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกกรรมการจริยธรรมวินัยพรรคหรือถูกภาคทัณฑ์

ส่วนแนวคิดของนายไพบูลย์ที่เสนอให้ใช้มาตรา 270 เพื่อให้ ส.ว. ร่วมโหวตกฎหมายนั้น คิดแผลงๆตลอดเวลา ถ้าทุกคนยึดมั่นในระบบรัฐสภา ประเทศก็เดินหน้าไปได้ แพ้เลือกตั้งก็คือแพ้ ประชาชนเลือกใครมากกว่าก็ให้จัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ดีก็อยู่ได้ ไม่ดีก็ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ อยากให้เพลาๆความคิดแหวกแนว เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเมืองในอนาคต และขออย่าใช้วิชามารใดๆ ทั้งงูเห่าและทุกวิธีที่จะทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่วงจรอุบาทว์อีก

ใครๆก็ไม่เอา “ลุงตู่”

นายไทกร พลสุวรรณ อดีต กปปส. โพสต์เฟซบุ๊ค (21 เมษายน) คำว่า Dead Lock และ Political Sanction ว่า เหลือเวลาอีกไม่เกิน 18 วันที่ กกต. ต้องรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับไม่แตกต่างจากที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการ

กองเชียร์ลุงตู่หลายคนหวังจะให้มีใบส้มเพื่อจะเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. ความจริงคงไม่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อประกาศให้ใบส้มเขตใดต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 15 วัน และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำได้ก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม และหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต้องเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วัน หลังจากนั้นไม่นานกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะตามมา

Dead Lock ไม่มีทางไป ไม่มีทางออก สาเหตุเกิดจาก Political Sanction หรือการคว่ำบาตรทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่นายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เป็นการคว่ำบาตรทางการเมืองโดยตรงต่อบุคคล

ก่อนหน้านี้ (20 เมษายน) นายไทกรได้โพสต์ว่า “ไม่มีใครกล้าบอกความจริงกับลุง” ว่าปัญหาที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองต่างๆไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐไม่อยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ แต่อยู่ที่ตัวบุคคล

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางเดียวที่พรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 251 คือต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่พรรคพลังประชารัฐจะกล้าเปลี่ยนหรือไม่? และใครจะไปบอกความจริงกับ พล.อ.ประยุทธ์? แม้ตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อยู่ได้เดือนสองเดือนไม่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ต้องลาออก มีแต่ตายกับตาย หรือรู้ว่าแม้ต้องตายก็ต้องเดินไป

นรกชังหรือสวรรค์แกล้ง?

สถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งไม่ใช่ Dead Lock หรือทางตันทางการเมือง แต่อาจเป็นเพราะคนคนเดียวอยากอยู่ต่อ อยากมีอำนาจต่อ เพื่อสืบทอด “ระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ” อะไรๆจึงวุ่นวายสับสน

กรณีการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ที่เหมือน “ลิงแก้แห” โดยเฉพาะกรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของ กกต. ที่ขอให้วินิจฉัยการคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในการพิจารณา ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ถือว่ามีปัญหา เพราะยังไม่ปรากฏว่า กกต. ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ

ปัญหาจึงอยู่ที่ กกต. จะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร ยิ่งกรณีการแจ้งข้อหานายธนาธรที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะมีใบสั่งหรือไม่? รวมถึงการประเดิมแจกใบส้มตัดสิทธิว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่จากพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งกว่า 5 หมื่นคะแนน ที่ชนะอันดับรองลงมาคือผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐที่ได้ไม่ถึง 4 หมื่นคะแนน เป็นคนแรก ซึ่งการแจกใบส้มเป็นอำนาจสิทธิขาดของ กกต. ที่ทำได้ทันทีตามกติกาใหม่ เพียงเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือผิดกฎหมายเลือกตั้ง ข้อกล่าวหาปรกติผิดจริงชัดเจนก็แล้วไป แต่ถ้าข้อกล่าวหานั้นวิจิตรพิสดารแต่ฟันไว้ก่อนก็อาจสะท้อนถึงวิกฤตความเชื่อมั่นและวิกฤตศรัทธาขององค์กรอิสระ ซึ่งไม่ต่างกับภาพของรัฐบาลทหารและ คสช. ขณะนี้

จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงประณามและวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ว่าทั้งอัปลักษณ์และพิสดาร ยิ่ง กกต. แก้ปมที่พันไปทั่วก็ยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง จนอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์และบิด (เบือน) กฎหมายเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามหรืออย่างไร สุดท้ายเมื่อความจริงที่แท้กว่าปรากฏ ความอัดอั้นคับแค้นจะยิ่งทับถมทวีคูณก็เป็นได้

การเลือกตั้งที่มีปัญหาจึงเป็นเพราะรัฐธรรมนูญที่ “มัดมือชก” และองค์กรอิสระที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ “ระบอบพิสดาร” สามารถ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปให้ได้แบบขัดตาและขัดใจคนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ยอมสรุปผลอย่างชัดเจนเสียที

แท้จริงแล้วการเมืองไม่ได้ถึง “ทางตัน” แต่มีปัญหาเพราะคนบางคนบางกลุ่มไม่ยอมรับคำว่า “แพ้” จึงพยายามสร้างสถานการณ์และบิดเบือนกลไกต่างๆเพื่อดันทุรังให้คนคนเดียวกลับมามีอำนาจต่อ ภายใต้ “วาท(กรง)กรรม” ที่ว่า.. ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย (ที่มาจากการฉีกกฎหมาย)..

ไม่รู้ “นรกชังหรือสวรรค์แกล้ง?”..แต่ก็หวังว่าจะได้เห็น “กงเกวียนกำเกวียน” กันในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!!??

 


You must be logged in to post a comment Login