- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เจตนารมณ์
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 26 เม.ย. 62)
หลัง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มีโอกาสโดนสกัดไม่ให้เข้าสภาเพราะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในบริษัทผลิตสื่อ แม้นิตยสารนั้นจะปิดตัวไปแล้วกว่า 2 ปีก่อนการเลือกตั้ง จึงมีคนเอาไปเปรียบเทียบกับ”วทันยา วงษ์โอภาสี” ว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้อาจจะโอนหุ้นบริษัทสื่อในมือไปแล้ว แต่สามีเธอเป็นผู้บริหารสื่อเครือเนชั่นที่มีทั้งสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์อยู่ในมือ แถมยังเสนอข่าวสารด้านการเมืองเป็นหลัก ว่าอย่างไหนเข้าข่ายตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อมากกว่ากัน
กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อ ซึ่งอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีหลายแง่มุมให้พิจารณาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ในมุมของข้อเท็จจริงนั้น เมื่อ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว นายธนาธรก็ต้องทำการแก้ข้อกล่าวหา มีข้อมูลพยานหลักฐานอะไรก็นำไปหักล้างกับพยานหลักฐานที่ กกต. มีอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมุมข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพิจารณานอกจากประเด็นหลักที่ว่านายธนาธรโอนหุ้นให้มารดาก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือไม่
แน่นอนว่ากฎหมายเขียนห้ามผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อสารมวลชน เพราะไม่ต้องการให้นักการเมืองใช้สื่อที่มีอยู่ในมือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในมุมเชียร์ตัวเองสร้างภาพให้เป็นที่นิยม และใช้สื่อทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
แต่ในกรณีของนายธนาธรมีความน่าสนใจว่าสื่อที่นายธนาธรเคยมีหุ้นอยู่นั้นเป็นสื่อชนิดไหน อย่างไร
นิตยสาร WHO? เชื่อว่ามีไม่มากคนนักที่รู้จัก เพราะค่อนข้างเป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม โดยนิตยสาร WHO? เริ่มตีพิมพ์เมื่อปี 2551 และปิดตัวลงเมื่อปี 2559 แนวนิตยสารเป็นการนำเสนอประวัติ ผลงานของบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยมีนักการเมืองหลายคนเคยไปขึ้นปก เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
แม้จะมีนักการเมืองเคยไปขึ้นปกและถูกนำเสนอเรื่องราวเป็นเรื่องเด่นของเล่ม แต่นิตยสารเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้เข้าถึงคนหมู่มาก ที่สำคัญปิดตัวไปก่อนการเลือกตั้งนานกว่า 2 ปี จึงมีคำถามน่าสนใจว่าจะส่งผลหรือมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไร
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อก็เพื่อไม่ให้ใช้อิทธิพลของสื่อที่มีเพื่อการหาเสียง หาความนิยมเข้าตัวเข้าพรรค หรือใช้สื่อเพื่อทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม
แถมยังบอกด้วยว่าการที่เจ้าของสื่อลาออก โอนหุ้นให้คนอื่นอย่างเป็นการทางแต่แอบบงการสื่ออยู่เบื้องหลังนั้น ถือว่าเลวร้ายกว่าการลืมลาออกจากสื่อที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลใดทางการเมือง พร้อมตั้งคำถามกับ กกต. ว่า เคยไหมที่ กกต. จะ monitor ทีวีทุกช่องทุกเช้า และส่งคำเตือนไปยังทีวีอย่างน้อย 3-4 ช่องว่า ไม่เป็นกลาง ขอให้ยุติการกระทำ
อดีต กกต. ยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องใหญ่ที่สมควรทำกลับไม่ทำ มาให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กน้อย พร้อมเตือนว่าการกระทำของ กกต. ครั้งนี้จะทำให้เกิดโดมิโน่จากกรณีเดียวกันนี้ตามมาอีกมาก ไม่เชื่อโปรดติดตาม
โดมิโน่ที่จะตามมาถูกขยายความโดยนายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยชี้ประเด็นให้เห็นว่า ระหว่างบริษัทสื่อของนายธนาธรที่เป็นนิตยสารแนวแฟชั่นและปิดตัวไปแล้วแต่ยังไม่ได้ยกเลิกบริษัท กับ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ แม้จะโอนหุ้นสปริงนิวส์ออกไปแล้วนั้น แต่สามีของเธอเป็นเจ้าของ/ผู้ถือหุ้นใหญ่ทีวีหลายช่อง หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการเมืองหลายฉบับ เสนอข่าววิจารณ์ชี้นำตลอดเวลา บางครั้งโจมตีพรรคการเมืองตรงกันข้ามกับพรรคที่มาดามเดียร์สังกัด เรื่องนี้กลับไม่มีใครพูดถึง
เมื่อมีประเด็นนายธนาธรขึ้นมา เชื่อว่ากรณีมาดามเดียร์จะมีคนยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบแน่นอน
น่าสนใจว่าระหว่างคน (เคย) ถือหุ้นนิตยสารแนวแฟชั่นที่ปิดตัวไปก่อนการเลือกตั้งกว่า 2 ปี กับคนที่อาจโอนหุ้นสื่อทีวีหลายช่อง หนังสือพิมพ์หลายฉบับไปแล้วเหมือนกัน แต่สามีเป็นถึงกรรมการบริหารและประธานกรรมการบริหารสื่อเครือเนชั่น
ผลตัดสินของ กกต. จะออกมาอย่างไร จะตีความเจตนารมณ์กฎหมายในเรื่องห้ามนักการเมืองถือครองสื่ออย่างไร จะยึดแต่ตัวอักษรตามกฎหมายหรือยึดข้อเท็จจริง
You must be logged in to post a comment Login