วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สงครามไข่

On April 26, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  26 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2562 )

การตื่นทองทำให้ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมายังแคลิฟอร์เนีย ผลพวงที่ตามมาคือเกิดการขาดแคลนอาหาร ไข่ไก่มีราคาถีบตัวขึ้นหลายเท่าตัว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีพ่อค้าหัวใสหาไข่นกมาทดแทน แต่เกรงว่าจะมีคนอื่นมาแย่งชิงจึงจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธปกป้องไข่นกจนเกิดเป็นสงครามขนาดย่อมๆ

หลังจากที่จอห์น ซัตเตอร์ ค้นพบสายแร่ทองคำในปี 1848 ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศก็แห่แหนกันอพยพมายังแคลิฟอร์เนีย ประเมินว่าช่วงระหว่างปี 1848-1855 มีผู้อพยพมาขุดทองในแคลิฟอร์เนียราว 300,000 คน ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองหน้าด่านจากเดิมมีประชากรแค่ 800 คน ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 20,000 คน ไม่นับคนอีกนับแสนๆที่ต้องเดินทางผ่านซานฟรานซิสโกเพื่อไปเสี่ยงโชคขุดทอง

การที่เมืองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้อาหารมีไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนจำนวนมากโดยเฉพาะไข่ไก่ แหล่งโปรตีนราคาถูกซึ่งจำเป็นสำหรับคนใช้แรงงาน ร้านขายของชำติดป้ายประกาศรับซื้อไข่ไม่อั้น ขณะที่บางร้านลงประกาศโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์รับซื้อเนยและไข่ไม่เกี่ยงราคา

ความต้องการมีมากกว่าปริมาณสินค้าในมือ ทำให้ราคาไข่ไก่จากเดิมเคยขายกันโหลละ 5 เซ็นต์ในช่วงปรกติถึงโหลละ 30 เซ็นต์ในช่วงขาดแคลน ถีบตัวขึ้นเป็นโหลละ 1 ดอลลาร์ (ค่าเงินปัจจุบันประมาณ 30 ดอลลาร์) การที่ไข่ไก่มีราคาแพงขนาดนี้เห็นทีว่าไม่ต้องไปขุดทองแล้ว หาไข่มาขายคงรวยไม่แพ้กัน ปี 1849 ด็อก โรบินสัน (ข้อมูลบางแหล่งเรียก ดร.โรบินสัน) ชักชวนออร์วินที่มีศักดิ์เป็นน้องเขยพายเรือไปเกาะเฟรัลลอนเพื่อหาไข่นกมาขาย

เกาะแห่งความตาย

หมู่เกาะเฟรัลลอนมีเนื้อที่ประมาณ 527 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากสะพานโกลเด้นเกทราว 26 ไมล์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโขดหิน ถึงกับมีการเปรียบเทียบว่าเหมือนชิ้นส่วนดวงจันทร์ตกลงในทะเล เฟรัลลอนเป็นสวรรค์ของสัตว์หากินริมทะเล แต่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ คนพื้นเมืองเรียกหมู่เกาะนี้ว่าเกาะแห่งความตาย

หมู่เกาะเฟรัลลอนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งแพร่พันธุ์นกทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา ประเมินว่ามีนกทะเลอาศัยอยู่บนหมู่เกาะเฟรัลลอนราว 500,000 ตัว แน่นอนว่าจำนวนประชากรมากขนาดนี้ต้องมีไข่ให้เก็บทุกวัน และไข่ของมันมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ราวเท่าตัว

ด็อก โรบินสัน และออร์วิน เก็บไข่นกทะเลมาได้จำนวนมาก ขนาดพวกเขาทำไข่แตกไปเกือบครึ่งระหว่างเดินทาง ที่เหลือกลับมายังสามารถขายได้เงินถึง 3,000 ดอลลาร์ ด็อก โรบินสัน นำเงินจำนวนนี้ไปเปิดร้านขายยา อาชีพที่เขาใฝ่ฝันมานาน และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปที่หมู่เกาะเฟรัลลอนอีก เพราะมันเต็มไปด้วยภยันตราย การเก็บไข่นกต้องปีนป่ายไปตามหน้าผาที่ลาดชันและลื่นมากเพราะเปรอะเปื้อนไปด้วยมูลนก สมแล้วที่คนพื้นเมืองเรียกว่าเกาะแห่งความตาย

ไข่นกทะเลใช้ทดแทนไข่ไก่ได้หากว่าเป็นไข่สด แถมยังมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่เกือบเท่าตัว ขณะที่ราคาขายเท่ากันคือโหลละ 1 ดอลลาร์ แต่ถ้าไข่นกทะเลไม่สดมันจะคาวจัด ว่ากันว่ากลิ่นคาวจะติดปากนานเป็นเดือนเลยทีเดียว ดังนั้น จะต้องเลือกเก็บแต่ไข่สดเท่านั้น

ผูกขาดไข่นก

ปี 1851 ชาย 6 คนหุ้นกันก่อตั้งบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ ประกาศตัวเป็นเจ้าของสัมปทานไข่นกทะเลบนหมู่เกาะเฟรัลลอนแต่เพียงผู้เดียว ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีการระหองระแหงกันระหว่างชาวบ้านที่ไปเก็บไข่นกมาขายกับคนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนงานชาวอิตาเลียนที่รัฐบาลอเมริกาว่าจ้างให้ทำแผนที่หมู่เกาะเฟรัลลอนก็ยังถูกไล่ตะเพิดออกมา

เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลอเมริกามอบหมายให้คนงานไปสร้างประภาคารบนเกาะเฟรัลลอนในปี 1859 โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นกทะเลวางไข่ คนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์พยายามใช้กำลังและอาวุธขับไล่คนงานก่อสร้างประภาคารให้ออกไปจากเกาะเฟรัลลอน ทั้งสองฝ่ายต่างยึดที่มั่นกันคนละฝั่งของเกาะและยิงต่อสู้กัน

การต่อสู้ดำเนินไปนานเป็นปีโดยที่รัฐบาลกลางไม่ส่งความช่วยเหลือมาให้แม้ว่าผู้ช่วยคนดูแลประภาคารจะถูกลอบทำร้ายจนบาดเจ็บ ต่อมาในปี 1863 กองทัพเรือประมงชาวอิตาเลียนบุกมาถึงหมู่เกาะเฟรัลลอนและพยายามจะเข้ามามีเอี่ยวในธุรกิจไข่นกทะเล

วันที่ 3 มิถุนายน 1863 เรือประมงของชาวอิตาเลียนลำหนึ่งพยายามนำเรือเข้าชายฝั่งเกาะเฟรัลลอน แต่ถูกหัวหน้าคนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ตะโกนไล่ให้ออกไป “กล้าดีก็เข้ามาเลย” ชาวประมงอิตาเลียนลอยเรืออยู่นอกชายฝั่งตะโกนสวนกลับไปว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” ชาวประมงอิตาเลียนนำเรือกลับไปรวมกับพรรคพวก คืนนั้นพวกเขาร่ำสุราพร้อมตะโกนด่าทอคนบนเกาะเฟรัลลอนทั้งคืน

ฟางเส้นสุดท้าย

เช้าวันรุ่งขึ้นกองเรือประมงอิตาเลียนเคลื่อนขบวนเข้าชายฝั่ง คนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ระดมกระสุนเข้าใส่ การปะทะกันกินเวลา 20 นาที คนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์เสียชีวิต 1 คน ชาวประมงอิตาเลียนได้รับบาดเจ็บ 5 คน และหนึ่งในนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา

รัฐบาลอเมริการีบยื่นมาเข้ามาแทรกแซงโดยออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า บริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์เป็นผู้ได้รับสัมปทานไข่นกทะเลบนหมู่เกาะเฟรัลลอนแต่เพียงผู้เดียว หลังจากได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาล บริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ก็เดินหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปิดโรงงานผลิตน้ำมันแมวน้ำในปี 1879

การเปิดโรงงานผลิตน้ำมันแมวน้ำก่อให้เกิดมลภาวะ เกาะเฟรัลลอนเกลื่อนกลาดไปด้วยซากแมวน้ำและสิงโตทะเล ควันจากโรงงานผลิตน้ำมันบดบังแสงไฟจากประภาคาร อีกทั้งคนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ไปบอกแกมบังคับไม่ให้ผู้ดูแลประภาคารเปิดหวูดสัญญาณเตือนภัยเมื่อเห็นเรือแล่นมาใกล้ชายฝั่ง เพราะเสียงหวูดทำให้นกทะเลแตกตื่น

ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อคนดูแลประภาคารเก็บไข่นกทะเลเพื่อเอาไปทำเป็นอาหาร เขาถูกคนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ ในที่สุดรัฐบาลอเมริกาก็ตัดสินใจยุติความกร่างของบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ โดยส่งกำลังทหารไปขับไล่คนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ให้ออกไปจากเกาะเฟรัลลอนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1881

เมื่อถึงเวลานั้นชาวเมืองซานฟรานซิสโกไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไข่นกทะเลอีกต่อไป เพราะเกิดฟาร์มไก่ขึ้นมากมาย เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงความต้องการของคนทั้งเมืองได้ และราคาไข่ไก่ก็ลดลงจากโหลละ 1 ดอลลาร์ กลับคืนสู่ราคาเดิมที่ควรจะเป็นคือโหลละ 5 เซ็นต์

ช่วงระยะเวลา 30 ปีที่บริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์เก็บไข่นกทะเล คนงานจะทำลายไข่ทุกใบที่ไม่มั่นใจว่าเป็นไข่สดทิ้ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเก็บไข่ครั้งต่อไปจะมีแต่ไข่สดเท่านั้น ประเมินว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวไข่นกทะเลถูกส่งมาขายราว 14 ล้านฟอง จากการสำรวจประชากรนกทะเลบนเกาะเฟรัลลอนในปี 1896 พบว่ามีจำนวนลดลงมากเหลือแค่เพียง 91,740 ตัว ปัจจุบันเกาะเฟรัลลอนถูกประกาศให้เป็นสถานที่อนุรักษ์นกทะเล หลังจากที่พวกมันถูกบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์ทำปู้ยี่ปู้ยำจนแทบจะสูญพันธุ์

1

1.หมู่เกาะเฟรัลลอน

2

2.ท่าเทียบเรือซานฟรานซิสโก ปี 1850

3

3.ฝูงนกทะเลบนเกาะเฟรัลลอน

4

4.แมวน้ำและสิงโตทะเลบนเกาะเฟรัลลอน

5

5.คนงานสวมเสื้อออกแบบมาให้ใส่ไข่นกได้

6

6.การเก็บไข่นกต้องปีนป่ายหน้าผาลาดชัน

7

7.ไข่นกทะเลเตรียมบรรจุใส่ลัง

8

8.กองไข่นกทะเล

9

9.ประภาคารเกาะเฟรัลลอน

10

10.คนงานบริษัทแปซิฟิคเอ้กจ์


You must be logged in to post a comment Login