วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เดินหน้าหรือถอยหลัง?

On May 3, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 3 พ.ค. 62)

ก่อน กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 95% ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กกต. จะใช้สูตรใดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่ต้องจับตามองว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ที่ขอให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ

เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง แต่เพื่อประกอบการพิจารณาจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 วรรคสาม ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งให้เลขาธิการวุฒิสภาจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 7 พฤษภาคม และนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 09.30 น.

ประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเป็นปัญหาคือ มาตรา 128 ได้เพิ่มข้อความเข้ามามากกว่าถ้อยคำที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้คำนวณหาจำนวน “ส.ส. พึงมี” แต่มาตรา 128 ไปเพิ่มเป็น “ส.ส. พึงมีเบื้องต้น” ทำให้เกิดปัญหาในการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีปัญหาความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย แต่ กกต. ก็จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตในวันที่ 7 พฤษภาคม และรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อวันที่ 8 พฤษภาคม โดยจะใช้สูตรของ กรธ. มาคำนวณ ซึ่ง กกต. แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคมว่า จะทำให้มี 27 พรรคมีโอกาสได้ที่นั่งในสภา

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางรัฐสภาก็จะเริ่มขึ้น โดยวันที่ 11 พฤษภาคม จะประกาศรายชื่อ 250 ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือก และวันที่ 12 พฤษภาคม นำรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ

หลังจากนั้นวันที่ 18 หรือ 19 พฤษภาคม จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 21 พฤษภาคม ประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธาน/รองประธานสภา และประชุมวุฒิสภานัดแรกเพื่อเลือกประธาน/รองประธานวุฒิสภา วันที่ 23 พฤษภาคม นำรายชื่อประธาน/รองประธานสภา และประธาน/รองประธานวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ

วันที่ 24 พฤษภาคม ประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และภายในเดือนมิถุนายนจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

จึงต้องดูว่าการเมืองจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน โฉมหน้ารัฐบาลใหม่จะเป็นไปตาม “โรดแม็พ” การสืบทอดอำนาจหรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login