วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เด็กต่ำกว่า 5 ขวบ “นั่งให้น้อย เล่นให้มาก ปราศจากหน้าจอ”

On May 3, 2019

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าผู้ใหญ่มากกว่า 23% และวัยรุ่นมากกว่า 80% มีกิจกรรมทางกายภาพที่ไม่เพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไปกรมสุขภาพจิตจึงขอแนะนำผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลานของท่าน ปฏิบัติตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุดที่ออกประกาศใช้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมุ่งเน้นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่งเฉยๆไม่ทำอะไร การนั่งติดกับสายรัดในรถเข็นเด็ก หรือการนั่งดูโทรทัศน์หรือเครื่องมือสื่อสารที่มีหน้าจอประเภทต่างๆ ควรเพิ่มพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องระหว่างช่วงเวลาที่เด็กตื่น เน้นการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการควบคุมเวลาหน้าจออย่างเข้มงวด เพื่อพัฒนาการทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีควรมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะการเล่นบนพื้นหากยังเคลื่อนไหวได้ไม่ดีควรมีการนอนคว่ำแบบตะแคงหน้าอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีหลายครั้งต่อวันในช่วงเวลาที่ตื่นไม่ควรให้นั่งนิ่งๆหรือล็อคติดกับรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง นอนหลับรวม 14-17 ชั่วโมงในเด็ก 0-3 เดือน และ 12-16 ชั่วโมงในเด็ก 4-11 เดือนไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดทั้งโทรทัศน์และเครื่องมืออิเล็คโทรนิกประเภทต่างๆ

สำหรับในเด็กอายุ 1-2 ปีควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆหรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมงควรนอนหลับรวม 11-14 ชั่วโมงต่อวันไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดในเด็กอายุ 1 ปี สำหรับในเด็กอายุ 2 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก และในเด็กอายุ 3-4 ปีควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า โดยเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมากนานไม่ต่ำกว่า 60 นาที ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆหรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 10-13 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก

พ่อแม่จึงควรชักชวนให้ลูกเล่นมากขึ้นแทนการอยู่หน้าจอการเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์และสังคมไปพร้อมๆ เน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เช่น อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังในเด็กเล็กเล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆที่มีอยู่รอบตัวเล่นต่อเพลงหรือต่อนิทานคนละประโยค เล่นของเล่นอย่างอิสระ ออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอก นอกจากนั้นควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นและปลอดภัยของครอบครัวทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีควรทำตั้งแต่ในเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมติดตัวที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว


You must be logged in to post a comment Login