วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“คารม”ชี้คดีหุ้นสื่อลามทุกพรรคเป็นปัญหาเชิงระบบไม่ใช่ตัวบุคคล

On May 6, 2019

นายคารม พลพรกลาง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.)กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ให้นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นหุ้นส่วนในกิจการสื่อมวลชน ยังไม่ถือเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีหุ้นสื่ิอฯของผู้สมัคร ส.ส. คนอื่น ว่า คาดว่านายวิษณุคงพูดในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และคงเห็นแล้วว่าปัญหานี้ชักลามปามไปถึงทุกพรรค ไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะเรื่อง แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบรายละเอียดกรณีนายภูเบศวร์มากนัก แต่คิดว่าเรื่องนี้จะชัดเจนได้ ต้องกลับไปที่ศาล จะเป็นศาลฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็แล้วแต่กรณี โดยต้องมีคนยื่นเรื่องเข้าไปใหม่ ซึ่งศาลฎีกานั้นสามารถเปลี่ยนแนวคำพิพากษาได้เสมอ แม้แต่ในกรณีเดียวกัน เพราะศาลฎีกาตีความจากตัวบท หมายความว่า หากข้อเท็จจริงมีการเปลี่ยนแปลง แนวคำพิพากษาก็เปลี่ยนแปลงได้

“นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรค 4 ยังระบุว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ตามความเห็นของผม ซึ่งไม่ใช่การชี้นำศาล เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวางหลักใหม่ก็จบ เพราะกรณีนายภูเบศร์เป็นแค่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี” นายคารมกล่าว

นายคารม กล่าวว่า สำหรับกรณีเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อนั้น รัฐธรรมนูญเขียนหลักการกว้างๆไว้ การจะแปรความไม่ให้เกิดปัญหา ต้องแปรในเชิงที่ว่า บุคคลนั้นๆได้ทำสื่อจริงๆ ซึ่งแปรได้ 2 นัย คือ 1.ได้จดทะเบียนว่าเป็นสื่อ หรือ 2.ไม่ได้จดทะเบียน แต่แฝงด้วยการเป็นสื่อ กล่าวคือ มีสื่อในมือ แต่ใช้ชื่อนอมินี ดังนั้น การไปแปรความว่าใครที่จดทะเบียนไว้โดยมีวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ซื้อแบบฟอร์มมาจากกรมพัฒนาธุรกิจ แล้วจะมีความผิด มันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องมองให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย รวมถึงตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองใช้สื่อมาครอบงำ ชี้นำ พูดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและทำลายคนอื่น

“การตีความกฎหมายต้องทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ ไม่ใช่ติดล็อกจนกลายเป็นผลเสียและความวุ่นวาย ที่นายวิษณุออกมาพูด อาจจะเป็นความพยายามคลายล็อก ซึ่งจริงๆแล้ว คนที่เขียนรัฐธรรมนูญอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ น่าจะกล้าตอบคำถาม ไม่ใช่ทำตัวแบบทุกวันนี้” นายคารมกล่าว

นายคารม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรณีของนายภูเบศวร์ ยังมีขั้นตอนต่อไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะฟ้องดำเนินคดีทางอาญาแก่นายภูเบศวร์ ว่าสมัครรับเลือกตั้งทั้งที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสให้นายภูเบศวร์ได้ต่อสู้อีกครั้ง ว่าจริงๆแล้วเขาประกอบธุรกิจก่อสร้าง ไม่ได้ทำสื่อ

“การใช้กฎหมายจำกัดสิทธิ์ต้องตีความโดยเคร่งครัด มิฉะนั้น อาจทำให้หลายคนโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี รวมถึงโดนจำคุก การเลือกตั้งที่ใช้งบถึง 5,800 ล้านบาท แต่กลายเป็นว่ากฎหมายมาตราเดียว ทำให้หายไปครึ่งสภา ประเทศไหนในโลกก็ไม่น่าเป็นอย่างนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม กับทุกคนที่ไม่ได้ประกอบการสื่อจริงๆ” นายคารมกล่าว

นายคารม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม กรณีคดีถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 11 คนของพรรค ซึ่งถูกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา


You must be logged in to post a comment Login