วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ผู้กุมชะตารัฐบาล

On May 10, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 10 พ.ค. 62)

การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกำลังต่อรองกันอย่างเข้มข้น แม้ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐจะได้ 14 เสียงจากพรรคเล็กมาเสริม แต่ตัวแปรสำคัญยังอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ความน่าจะเป็นที่สุดในตอนนี้หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ทีมไม่เอา “ลุงตู่” บริหารพรรค พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจโควตารัฐมนตรีที่ได้รับและไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็คือพรรคพลังประชารัฐขอไปตายดาบหน้า ยอมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยมีเสียง ส.ว. ช่วยกันอุ้ม “ลุงตู่” เป็นนายกฯ

เป็นไปตามคาด หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจมอบเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.พึงมี ก็มีคนประกาศเป็นเจ้าภาพยื่นฟ้อง กกต. ทันที

ในจำนวนเจ้าภาพหลายราย ดูเหมือนเจ้าภาพที่ กกต. ต้องหนาวๆร้อนๆคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเคยเป็นเจ้าภาพเอา กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เข้าคุกมาแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศแล้วว่าขอเป็นเจ้าภาพร่วมฟ้องร้อง กกต. เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง เนื่องจากการแจก ส.ส. ให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.พึงมีทำให้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่ควรจะได้ลดลง

ต้องรอดูว่าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้ช่องไหนฟ้องร้อง กกต. ระหว่างช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ ช่องทางศาลยุติธรรม หรือช่องทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งการเลือกใช้ช่องทางใดนั้นจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังที่จะเอาผิดกับ กกต.ชุดนี้ด้วย

จากเรื่อง กกต. ที่ถูกฟ้องร้องจากการทำหน้าที่แน่นอนแล้ว มาถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเจรจากันอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ

พรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส. แบบส้มหล่น 14 พรรค แม้จะรวมกันแล้วมีถึง 14 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

แต่ยังไม่ถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด

ตัวแปรสำคัญที่สุดยังอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 51 เสียง

เป็นที่ทราบกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังต้องรอการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ และก็ชัดเจนว่ามี 2 ขั้วในพรรคที่ชิงอำนาจกัน

ขั้วหนึ่งนั้นเปิดเผยชัดเจนว่าต้องการนำพรรคไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่อีกขั้วหนึ่งยังแทงกั๊กตามสไตล์ถนัดของพรรคนี้ ไม่พูดชัดว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือยอมเป็นฝ่ายค้าน แต่บอกให้รอดูมติพรรค

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่ายังไม่ได้ตกลงรายละเอียดว่าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด โดยใช้ประโยคเท่ๆว่ารอฟังเสียงประชาชนอยู่

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่าทั้ง 2 พรรคซึ่งมี ส.ส. รวมกันแล้ว 103 เสียง อาจหันมาจับมือร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนาที่มี ส.ส. 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนาที่มี ส.ส. 3 เสียง เพื่อประกาศตัวเป็นขั้วที่สามจัดตั้งรัฐบาล

ตัวเลข 116 เสียงของกลุ่มนี้ถือว่าน่าสนใจ

แม้จะน้อยแต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากพิจารณาจากข้อเสนอถอดปลั๊ก ส.ว. ของพรรคอนาคตใหม่ที่ให้พรรคต่างๆรวมกันให้ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของ 2 สภาคือ 375 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โหวตเลือกใครก็ได้จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองให้เป็นนายกฯโดยที่ทุกพรรคไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาล ถึงจะดูเป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง แต่หากไม่เอา “ลุงตู่” ก็มีวิธีเดียว

แต่คำถามคือ นอกจากพรรคอนาคตใหม่แล้วจะมีพรรคอื่นเอาด้วยหรือไม่

หากพิจารณาจากการเมืองในอดีตที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก แค่พรรคหรือสองพรรคไม่เอาด้วยก็เกิดขึ้นไม่ได้

ความน่าจะเป็นที่สุดในตอนนี้หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ทีมไม่เอา “ลุงตู่” บริหารพรรค และพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจโควตารัฐมนตรีที่ได้รับและไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็คือพรรคพลังประชารัฐขอไปตายดาบหน้า ยอมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีเสียง ส.ว. ช่วยกันอุ้ม “ลุงตู่” เป็นนายกฯ


You must be logged in to post a comment Login