วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“พิชาย”ชี้สภาไทยเปราะบางเสี่ยงแตกสลาย

On May 10, 2019

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณงค์เพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กเรื่องความเปราะบางของรัฐสภา โดบระบุว่า

ความเปราะบางของรัฐสภา

รัฐสภาไทยชุดนี้มีความเปราะบางอย่างยิ่ง ด้วยสาเหตุสำคัญสามประการ

ประการแรก ปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมของวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการจัดสรร ส.ส.แก่พรรคการเมือง ที่อาจขัดแย้งกับ พ.รป.เลือกตั้ง ส.ส. และรัฐธรรมนูญ และความสมเหตุสมผลเชิงรัฐศาสตร์แบบประชาธิปไตย

วิธีการคำนวณและจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นวิธีที่ทำลายเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของผู้ที่สมควรได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เกิดภาวะการลื่นไหลของคะแนนจนทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเพียงสามหมื่นกว่าคะแนนทั่วไปประเทศยังได้รับการจัดสรร ส.ส. และกลายเป็นว่าพรรคการเมืองหลายพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมาก ถูกลงโทษโดยการไปลดจำนวน ส.ส.ที่พึงได้ลงไป ขณะที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อย กลับได้รับรางวัลโดยการไปเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้สูงกว่า ส.ส.ที่พึงได้ วิธีการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบนี้จะทำให้ความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรลดลง

ประการที่สอง เป็นผลสืบเนื่องจากประการแรก นั่นคือ การมีจำนวนพรรคการเมืองจำนวนมากมายมหาศาลถึง ๒๘ พรรคในรัฐสภา สิ่งที่ตามมาคือ ความเป็นไปได้สูงที่เกิดสภาพความไร้ระเบียบขึ้นมา เพราะการต่อรอง การแย่งชิง ความขัดแย้ง จะเกิดขึ้นอย่างมากมายเป็นทวีคูณ และจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาตกต่ำลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประการที่สาม การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ดำเนินไปท่ามกลางความเงียบ การปกปิด และความเร้นลับ สังคมไม่ทราบแม้แต่รายชื่อของคณะกรรมการสรรหา หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหา เสี่ยงเหล่านี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักธรรมาภิบาล และทำให้กระบวนการสรรหาถูกครอบงำด้วยระบบพวกพ้อง และเครือญาติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ส.ว. จำนวนมากมีแนวโน้มสนับสนุนและตอบสนองผู้ที่คัดเลือกและกลุ่มพวกของตนเอง มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม กระบวนการคัดเลือกและแนวโน้มการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในอนาคตจะทำให้ความชอบธรรมของวุฒิสภาลดลง และสร้างความเปราะบางแก่รัฐสภาเพิ่มขึ้น

เมื่อรัฐสภามีความเปราะบาง ก็ย่อมเสี่ยงต่อการแตกสลาย ดังนั้นหากสมาชิกรัฐสภายังไม่ตระถึงความเปราะบางของสถาบันตนเอง และยังดำเนินแบบแผนพฤติกรรมแบบเดิมๆ โอกาสที่รัฐสภาจะแตกสลายก็มีสูง

แต่หากสมาชิกรัฐสภาตระหนักว่ารัฐสภามีความเปราะบาง อันเป็นผลมาจากวิธีและกระบวนการได้มามีปัญหา และพร้อมใจกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากสาธารณะ ก็ย่อมส่งผลให้ความชอบธรรมของรัฐสภาเพิ่มขึ้น เพราะว่าความชอบธรรมนั้นมีฐานจาก ๒ แหล่ง คือที่มาของบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง และการทำหน้าที่ภายหลังดำรงตำแหน่งแล้ว

ดังนั้นแม้ว่า “ที่มาของตำแหน่ง” อาจมีปัญหาความชอบธรรม แต่หาก “ทำหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่ง” เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง ก็อาจทำให้ความชอบธรรมฟื้นกลับคืนมาได้ และเป็นการลดความเปราะบางลด และสามารถพัฒนารัฐสภาให้แข็งแกร่งขึ้นได้ในอนาคต


You must be logged in to post a comment Login