- ปีดับคนดังPosted 34 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
คำตอบอยู่ที่ปชป.
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 13 พ.ค. 62)
คำถามมากมายเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลชุดใหม่บริหารประเทศ คำตอบจะชัดเจนขึ้นหลังวันที่ 15 พฤษภาคม เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งคำตอบที่ได้มีอยู่ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะได้ขึ้นคุมอำนาจในพรรคระหว่างฝ่ายที่ไม่เอา “ลุงตู่” กับฝ่ายที่อยากเข้าไปช่วยหามเสลี่ยงให้ “ลุงตู่” นั่ง อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่สุดยังคงอยู่ที่มีชื่อพรรคประชาธิปัตย์ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างแน่นอน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ใครในรัฐบาลปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนจะได้ไปต่อหรือไม่ หรือแม้กระทั่งจะเอาใครมาเป็นนายกฯ
การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในทางเปิดเผยที่หลายคนจากหลายพรรคลอยหน้าลอยตาพูดทำนองว่ารอฟังเสียงประชาชน จะตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ฯลฯ
แต่ในทางไม่เปิดเผยการเจรจาต่อรองเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยที่หัวข้อการเจรจานั้นไม่ได้มีเรื่องประชาชนหรือผลประโยชน์ชาติมาเกี่ยวข้องตามที่พูด
หัวข้อเจรจามีแต่เรื่องพรรคจะได้กี่ตำแหน่ง กระทรวงใดบ้าง กระทรวงนั้นไม่เอาขอกระทรวงนี้ได้หรือไม่ ไม่เอาคนนั้นคนนี้ร่วมคณะรัฐมนตรีเพราะภาพลักษณ์ไม่ดี ฯลฯ
เชื่อว่าการเจรจาจะเป็นไปอย่างหน้าดำคร่ำเครียดตลอดช่วงสุดสัปดาห์ โดยมีเส้นตายอยู่ที่วันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมกันเพื่อหาหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ผลการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรย่อมกระทบต่อการเจรจาร่วมรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้
ถ้าได้กลุ่มที่ไม่เอา “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารพรรค สิ่งที่คุยกันไว้เป็นการเบื้องต้นแล้วจะต้องรื้อข้อเสนอมากางบนโต๊ะแล้วนั่งเจรจากันใหม่
แต่ไม่ได้หมายความว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลุ่มที่ไม่เอา “ลุงตู่” เข้ามาบริหารพรรคแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
ถึงตอนนี้โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมีความเป็นไปได้สูงกว่าการเป็นฝ่ายค้านอิสระที่เท่แต่กินไม่ได้
ส่วนเรื่องจะกลับหลังหันไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วพรรคเพื่อไทยนั้นปิดประตูไปได้เลย ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ เพราะ 2 พรรคนี้ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันอยู่แล้ว หากหันมาจูบปากกันมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายคงรับไม่ได้แน่
ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลุ่มที่ไม่เอา “ลุงตู่” เข้ามาบริหารพรรคคือ หัวหน้าการเจรจาจะเปลี่ยนไปจากไม่เอาคนใน คสช. บางคนร่วมรัฐบาลชุดใหม่เพราะเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ภาพลักษณ์ไม่ดี
อาจจะเปลี่ยนมาถึงขั้นขอเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เพราะการจะโหวตหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯเป็นเรื่องที่ขัดกับภาพลักษณ์ที่แสดงออกเอาไว้มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มวลชนเสียความรู้สึก และจะส่งผลให้การกอบกู้พรรคให้พ้นจากความตกต่ำเป็นไปได้ยากขึ้น
ถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ก็น่าสนใจว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ เพราะพรรคพลังประชารัฐเสนอแคนดิเดตไว้ชื่อเดียว พรรคประชาธิปัตย์จะกล้าถึงขนาดขอเป็น “นายกฯตาอยู่” หรือไม่
ถึงตอนนี้เรื่องรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจะมีเสียง ส.ส. สนับสนุนกี่เสียงไม่ใช่หัวข้อที่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่จะพยายามดึงเสียง ส.ส. ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แค่นั้น
แต่หัวข้อสำคัญคือ ใครในรัฐบาลชุดปัจจุบันจะได้ไปต่อในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หรือไม่ หรือแม้แต่ “ลุงตู่” จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองหรือไม่
พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ให้คำตอบหลังวันที่ 15 พฤษภาคม
You must be logged in to post a comment Login