วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แค่2ทางเลือก

On May 16, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 16 พ.ค. 62)

หลัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ชนะโหวตได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ทำให้หลายคนมองว่าพรรคพลังประชารัฐต้องออกแรงหนักขึ้นในการรวมเสียง ส.ส. จัดตั้งรัฐบาล และจะทำให้ขั้วที่สามที่จะชิงจัดตั้งรัฐบาลมีความคึกคักมากขึ้น แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าฝ่ายพลังประชารัฐยังถือไพ่เหนือกว่าในการโหวตเลือกนายกฯ เพราะอีกฝ่ายต่อให้รวมกันหมดแล้วยังขาดอีก 15 เสียงจึงจะชิงเก้าอี้นายกฯได้ ปัญหาคือจะหามาจากไหน จะกล่อม ส.ว. ที่หัวหน้า คสช. เป็นผู้เสนอแต่งตั้งให้เปลี่ยนใจได้อย่างไร หรือจะใช้อะไรล่อให้งูเห่าในรังพลังประชารัฐเลื้อยออกมา เหลือ 2 ทางเลือกให้ตามลุ้นคือ จะได้นายกฯหน้าเดิมแต่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศ หรือจะมีนายกฯหน้าใหม่ที่มีเสียงสนับสนุนเข้มแข็งบริหารประเทศ

ตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส. ในมือ 52 เสียง มีความชัดเจนขึ้นอีกระดับเมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ชนะโหวตได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จำใจลาออกเพราะพาพรรคแพ้เลือกตั้งหมดรูป

ในทางข่าวก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้นายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐจะลดน้อยลง

ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยจะมากขึ้น แต่หมายถึงโอกาสในการชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่สามจะมีมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ยอมเป็นสะพานให้ข้ามเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

แม้แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการทันทีว่าพร้อมยก 10 เสียงของพรรคสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไข และพร้อมที่จะไม่รับตำแหน่งใดๆในรัฐบาล และให้ถือว่า 10 เสียงของพรรคเป็นของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อจะได้โควตารัฐมนตรีมากขึ้น

เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่มีเงื่อนไข พรรคอนาคตใหม่ไม่มีเงื่อนไข พรรคเสรีรวมไทยไม่มีเงื่อนไข ก็อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยว่าจะตัดสินใจอย่างไร ข้อเสนองามๆอย่างนี้ใช่ว่าจะมีให้บ่อยๆ ถ้ารอให้พรรคชนะเลือกตั้งเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเองไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไร

ด้วยข้อเสนอแบบนี้ แม้แต่กุนซือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ยังแสดงความแปลกใจที่ผลการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผิดไปจากคาดหมาย พร้อมชี้ว่าผลเช่นนี้จะทำให้ขั้วที่สามในการจัดตั้งรัฐบาลมีชีวิตชีวามากขึ้น การรวมเสียง ส.ส. เพื่อตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของพรรคพลังประชารัฐจะเหนื่อยมากขึ้น ท้ายที่สุดแม้ตั้งรัฐบาลได้ก็อาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

อย่างที่ทราบกันว่าด้วยจำนวนเสียง ส.ส. ที่มีความก้ำกึ่งกันมากนี้ ความได้เปรียบเดียวที่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐถืออยู่ในมือคือ เสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของ 2 สภาคือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน

แม้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา จะมาร่วมกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยภายใต้เงื่อนไขพิเศษในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะได้เสียง ส.ส. รวมกันมากถึง 316 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงที่มากพอที่จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง

แต่ปัญหาคือ 316 เสียงยังไม่เพียงพอที่จะชนะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังต้องหาอีก 15 เสียงจาก ส.ส. หรือ ส.ว. มาสนับสนุนในการชิงตำแหน่งนายกฯ

คำถามคือจะหามาจากไหน จะมี ส.ว. คนใดใน 250 คนที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอชื่อแต่งตั้งกล้าโหวตสนับสนุนคู่แข่งชิงเก้าอี้นายกฯจากหัวหน้า คสช. หรือไม่

หรือจะมีงูเห่าแตกรังจากพรรคพลังประชารัฐโหวตสวนมติพรรคตัวเอง โดยอาศัยสิทธิการโหวตอย่างอิสระที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ตามที่มีข่าวหรือไม่

การเมืองเหลือ 2 ทางเลือกให้ประชาชนตามลุ้นคือ จะได้นายกฯหน้าเดิมแต่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศ หรือจะมีนายกฯหน้าใหม่ที่มีเสียงสนับสนุนเข้มแข็งบริหารประเทศ


You must be logged in to post a comment Login