วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“โรคเยื่อบุมดลูกต่างที่” สุภาพสตรีควรต้องรู้

On May 17, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน :รศ.นพ.ประสงค์ ตันมหาสมุทร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2562 )

“โรคเยื่อบุมดลูกต่างที่” (Endometriosis) เป็นโรคทางนรีเวชวิทยาที่ต้องอาศัยฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen dependent disease) พบได้บ่อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อายุ 20-30 ปี มีความชุกของโรคในสตรีทั่วไปร้อยละ 3-10 พบความชุกสูงขึ้นเป็นร้อยละ 32-74 ในกลุ่มสตรีที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และร้อยละ 21-50 ในกลุ่มที่มีภาวะมีบุตรยาก

หากมีอาการต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดระดูมาก หรือมีอาการปวดระดูที่ปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆมานานมากกว่า 6 เดือน มีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ หรืออาการปวดในตำแหน่งอื่นๆในช่วงที่มีระดู มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ และในรายที่มีบุตรยาก ควรมารับการตรวจกับสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจสืบค้นและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่

-สตรีที่เริ่มมีระดูตั้งแต่อายุน้อย (early menarche) สตรีที่มีรอบระดูสั้น และมีปริมาณระดูมาก

-ในสตรีที่เป็นญาติใกล้ชิดหรือญาติสายตรงของผู้ป่วย (first degree relative) พบความชุกของโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป 6-10 เท่า พบว่าโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่มีแนวโน้มพบมากขึ้นในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคนี้

-นอกจากนี้ยังพบบ่อยในคู่แฝด พบว่าในแฝดร่วมไข่ แฝดอีกคนมีโอกาสเป็นโรคสูงถึงร้อยละ 75-80

-ปัจจัยทางด้านพฤติกรรม พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม

ปัญหาที่พบบ่อยของโรคนี้

มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง คลำหรือตรวจพบถุงน้ำรังไข่ที่เรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์ (chocolate cyst) และภาวะมีบุตรยาก อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการปวดท้องน้อย ประกอบด้วย อาการปวดระดู ปวดท้องน้อยระหว่างรอบระดู และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกันก็ได้ โดยอาการปวดท้องน้อยเหล่านี้มักเป็นมานานเรื้อรัง

อาการปวดระดูเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยพบได้ร้อยละ 79-88 โดยเฉพาะถ้าอาการปวดระดูเป็นอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ (progressive dysmenorrhea) เป็นอาการที่ค่อนข้างจำเพาะต่อโรคนี้ และทำให้สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคนี้

การวินิจฉัย

สามารถทำได้โดยการใช้ลักษณะทางคลินิก (clinical diagnosis) การวินิจฉัยโดยการตรวจภาพวินิจฉัย (imaging diagnosis) และการวินิจฉัยโดยการใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (surgical diagnosis) ซึ่งการใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องเพื่อวินิจฉัย (diagnostic laparoscopy) ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรค

การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีช็อกโกแลตซีสต์ โดยมีความไวในการวินิจฉัยช็อกโกแลตซีสต์ร้อยละ 93 และมีความจำเพาะร้อยละ 96

การเลือกวิธีการรักษาโรคจะต้องพิจารณาจากหลายๆปัจจัย ได้แก่ อายุของผู้ป่วย สถานภาพสมรส ความต้องการมีบุตร ความรุนแรงของโรค และผลการรักษาที่เคยได้รับมาก่อน

โดยทั่วไปในกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรมักเริ่มให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนก่อน แล้วประเมินผลการรักษาว่าตอบสนองต่อยาหรือไม่ ส่วนในกรณีที่ต้องการมีบุตรจะไม่ให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมน เนื่องจากระหว่างการรักษาจะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น และหลังหยุดยาก็ไม่ได้ช่วยทำให้การตั้งครรภ์ดีขึ้น แนะนำให้พยายามทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น โดยอาจเป็นการตั้งครรภ์เอง (spontaneous pregnancy) หรือเป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology)

การรักษาด้วยยาฮอร์โมนถือเป็นการรักษาหลักสำหรับโรคนี้ ยาฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษาโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

1.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptive pills)

2.โพรเจสโทเจน (progestogen)

3.ยาที่ออกฤทธิ์แบบฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ danazol และ gestrinone

4.Gonadotropin releasing hormone agonist

5.Gonadotropin releasing hormone antagonist

6.Aromatase inhibitor

ระยะเวลาในการรักษาด้วยยาประมาณ 6-12 เดือน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์จำเป็นต้องให้การป้องกันการกลับเป็นซ้ำจนกว่าผู้ป่วยจะต้องการมีบุตร ซึ่งจะมียาเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่จะใช้ในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำในระยะยาวได้คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมและโพรเจสโทเจน

การผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจในช่องท้องมักจะทำในกรณีต่อไปนี้

1.ช็อกโกแลตซีสต์ที่มีขนาดมากกว่า 3 ซม. เนื่องจากการรักษาด้วยยาไม่สามารถกำจัดได้ และยังได้ผลตรวจทางพยาธิวิทยามายืนยันการรักษา นอกจากนี้ยังสามารถตรวจว่ามีมะเร็งเกิดขึ้นในซีสต์หรือไม่

2.ผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยาก การผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก การรักษาด้วยยาช่วยรักษาอาการปวด แต่ไม่ช่วยให้การตั้งครรภ์ดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยทำให้เกิดการตั้งครรภ์เองได้มากขึ้น และยังช่วยรักษาอาการปวดจากโรคให้ดีขึ้นด้วย จึงเป็นการแก้ปัญหาทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน

3.ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งผู้ป่วยอาจเป็นโรคอื่น หรืออาจมีรอยโรคที่รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยา ดังนั้น ควรใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องเพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไปในคราวเดียวกันเลย การผ่าตัดจะทำในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาโรคนี้ควรทำโดยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง โดยเฉพาะในรายที่ทำผ่าตัดแบบอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดี เห็นรอยโรคได้ชัดเจน ทำให้เกิดพังผืดน้อย และผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แต่การผ่าตัดโรคนี้ ในรายที่มีรอยโรครุนแรง เป็นการผ่าตัดที่ยาก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้สูง เช่น การบาดเจ็บต่อลำไส้ ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีทักษะและประสบการณ์ จึงจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดี เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย

ความพร้อมของศิริราช

สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มีความพร้อมสูงในการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง มีเครื่องมือที่ทันสมัย มีอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการผ่าตัดโรคนี้อยู่หลายท่าน และมีศูนย์ฝึกผ่าตัดผ่านกล้องไทย-เยอรมัน มีการจัดอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับโรคนี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือในการผ่าตัดจากต่างประเทศมาร่วมสอนและสาธิตการผ่าตัด (ข้อจำกัดของการรักษาในปัจจุบันคือ ยังไม่มีทีมแพทย์สหสาขาที่จะร่วมทำการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้องในกรณีผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ลำไส้และระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้การผ่าตัดในบางรายยังคงมีรอยโรคเหลืออยู่)

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ได้แก่ หน่วยต่อมไร้ท่อทางนรีเวช หน่วยการใช้กล้องส่องตรวจและรักษาทางนรีเวช และหน่วยผู้มีบุตรยาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ซึ่งทางหน่วยต่อมไร้ท่อทางนรีเวชได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคนี้ เช่น ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเทรล ซึ่งเป็นงานวิจัยชนิด randomized controlled trial ที่เป็น 1 ใน 2 งานวิจัยเกี่ยวกับห่วงชนิดนี้ในการรักษาโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ที่เข้าเกณฑ์ของ Cochrane review ในการศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการรักษาโรคและมีผลข้างเคียงน้อย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้ฮอร์โมนโพรเจสทินที่มีขนาดต่ำที่สุดเท่าที่มีการศึกษามาในการรักษาโรคนี้คือ desogestrel ขนาด 75 ไมโครกรัม

ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาค่อนข้างช้า โดยใช้เวลาเฉลี่ยถึง 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยได้เร็วขึ้นหากแพทย์ที่ไปพบคนแรกเป็นสูตินรีแพทย์ ดังนั้น มีความจำเป็นที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปควรรู้จักการวินิจฉัยและการรักษาโรคนี้ รวมถึงการส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางดูแลต่อในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา มีภาวะมีบุตรยาก และมีช็อกโกแลตซีสต์

สำหรับตัวผู้ป่วยเองควรจะต้องรู้จักอาการของโรคนี้ และมารับการตรวจเพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เพื่อป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเจริญพันธุ์ สตรีที่มีอาการปวดระดูมาก หรือมีอาการปวดระดูที่มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆมานานมากกว่า 6 เดือน มีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ หรืออาการปวดในตำแหน่งอื่นๆในช่วงที่มีระดู มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ และในรายที่มีบุตรยาก ควรมารับการตรวจกับสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจสืบค้นและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป


You must be logged in to post a comment Login