- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เขาบอกให้ผมบินรอบโลก
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2562 )
การประกาศเข้าร่วมสงครามอย่างกะทันหันทำให้เครื่องบินพาณิชย์ที่อยู่ระหว่างการเดินทางต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตรายด้วยการบินอ้อมโลก โดยที่ตัวเครื่องบินไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เดินทางระยะไกลขนาดนั้น มันจึงเป็นการบอกให้นักบินทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เช้ามืดวันที่ 6 มกราคม 1942 เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินประจำท่าอากาศยานลากวาร์เดีย เมืองนิวยอร์ก จ้องมองนาฬิกา มันเป็นเวลา 05.54 น. เหลือเวลาอีกแค่ 2 ชั่วโมงเขาก็จะหมดหน้าที่ แม้ว่าช่วงเวลานี้จะไม่มีตารางการบินของสายการบินใดๆ แต่ก็ยังต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำหอควบคุมการบินตลอดเวลา 24 ชั่วโมง กฎก็คือกฎ
เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินลุกจากเก้าอี้เพื่อไปรินกาแฟดื่มแก้ง่วง ทันใดนั้นเสียงจากวิทยุสื่อสารดังขึ้น “หอควบคุมลากวาร์เดีย นี่คือเครื่องบินสะเทินน้ำแพนแอม หมายเลข NC18602 จากเมืองออคแลนด์ นิวซีแลนด์ กำลังจะร่อนลงจอดลานบินน้ำลากวาร์เดียในอีก 7 นาที”
แก้วกาแฟแทบจะหลุดจากมือ เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินรู้สึกงุนงงสับสนกับสิ่งที่ได้ยิน เขาเช็กตารางการบินแล้ว ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้าไม่มีเครื่องบินขึ้นลงอย่างแน่นอน อีกทั้งเครื่องบินลำนี้บอกว่าบินมาจากนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ซีกโลกด้านตรงกันข้าม ไม่มีเครื่องบินพาณิชย์ที่บินได้ไกลขนาดนั้น
จากเมืองนิวยอร์กหากต้องการเดินทางไปนิวซีแลนด์จะต้องนั่งเครื่องบินไปลงที่ซานฟรานซิสโกก่อนแล้วจึงต่อเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีระยะทางสั้นกว่ามาก แม้ว่าเจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินจะรู้สึกสับสน แต่เขาก็ยังวิทยุตอบ “แพนแอม NC18602 ลานบินน้ำปิดจนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น คุณต้องบินวนรออีกประมาณ 1 ชั่วโมง เราจะเคลียร์ลานบินให้”
รอกินข้าวเย็น
แจ็ค พอยน์เด็กซ์เตอร์ เป็นหัวหน้าฝ่ายวิทยุการบินของแพนแอม โดยปรกติแล้วเขาทำงานนั่งโต๊ะ แต่เครื่องบินสะเทินน้ำโบอิ้ง 314 ได้รับการติดตั้งเครื่องรับส่งวิทยุรุ่นใหม่ แจ็คอยากไปสัมผัสดูว่าเครื่องรับส่งวิทยุรุ่นใหม่นี้ดีกว่ารุ่นเก่าอย่างไร
วันที่ 2 ธันวาคม 1941 แพนแอม NC18602 ขาดผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิทยุจึงขอให้แจ็คมาทำหน้าที่แทน พอเครื่องบินลงจอดที่ลอสแอนเจลิสจะมีผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิทยุอีกคนมารับช่วงต่อ ส่วนแจ็คก็สามารถขึ้นเครื่องบินกลับซานฟรานซิสโกได้เลย
แจ็คเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทดลองใช้เครื่องรับส่งวิทยุรุ่นใหม่ เขาโทรศัพท์ไปบอกภรรยาว่าวันนี้จะกลับดึกหน่อย ให้เตรียมข้าวเย็นไว้ให้ด้วย ทันทีที่เครื่องลงจอดที่ลอสแอนเจลิสแจ็คโทรศัพท์บอกภรรยาอีกครั้งว่ากำลังจะกลับบ้านแล้ว
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิทยุเกิดล้มป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ และไม่มีเจ้าหน้าที่วิทยุคนอื่นมาทำหน้าที่แทนได้ ทำให้แจ็คตกกระไดพลอยโจนเป็นผู้ช่วยออสการ์ เฮนดริกสัน เจ้าหน้าที่วิทยุ ไปตลอดเที่ยวบินจนถึงนิวซีแลนด์
แผน A
วันที่ 3 ธันวาคม เครื่องบินลงจอดที่เมืองโฮโนลูลู ลูกเรือต่างออกไปพักผ่อนตามชายหาด ขณะที่แจ็คต้องไปเดินช็อปปิ้งซื้อเสื้อผ้า เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัวที่จะเดินทางมากับเที่ยวบินนี้
วันที่ 4 ธันวาคม แพนแอม NC18602 ออกบินมุ่งหน้าไปยังเมืองออคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างทางได้แวะจอดที่เมืองมูเมอา บนเกาะนิวแคลิโดเนีย พร้อมกับรับตัวเจ้าหน้าที่วิทยุ ยูจีน ลีช ซึ่งเที่ยวบินของเขามีปัญหาบางอย่าง ทำให้เขาต้องขอติดเครื่องกลับมานิวซีแลนด์
วันที่ 7 ธันวาคม แพนแอม NC18602 ใกล้ถึงเมืองออคแลนด์ ยูจีนช่วยทำหน้าที่เจ้าหน้าที่วิทยุ ทันใดนั้นยูจีนก็ตะโกนร้องอย่างตกใจ “พระเจ้าช่วย ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์” ไม่กี่นาทีต่อมาเขาก็ได้รับสัญญาณรหัสมอร์สจากสถานีแพนแอมภาคพื้นดิน มีใจความว่า “เพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกโจมตี ใช้แผน A”
กัปตันโรเบิร์ต ฟอร์ด ล้วงซองจดหมายสีน้ำตาลออกมาจากเสื้อสูท ผู้บริหารบริษัทแพนแอมทำนายไว้ล่วงหน้าแล้วว่าอเมริกาอาจถูกดึงให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเตรียมแผนการไว้ให้กับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ข้อความในซองจดหมายระบุว่า ในยามสงครามอากาศยานทุกลำถือว่าเป็นทรัพย์สินทางการทหารที่จะต้องปกป้องไม่ให้ตกอยู่ในมือฝ่ายศัตรู แผน A คือการนำเครื่องบินลงจอดในดินแดนฝ่ายพันธมิตรโดยทันที
เส้นทางนรก
การทำตามแผน A เป็นเรื่องง่าย เพราะแพนแอม NC18602 ใกล้จะถึงเมืองออคแลนด์แล้ว แต่หลังจากนั้นล่ะ พวกเขาจะกลับได้อย่างไรเพราะน่านน้ำแปซิฟิกเต็มไปด้วยกองทัพญี่ปุ่น กัปตันโรเบิร์ตเฝ้ารอฟังคำสั่งต่อไป จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม ก็ได้รับโทรเลขจากสำนักงานใหญ่
“ลอกเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆบนเครื่องบินออกให้หมด ใช้เส้นทางตะวันตกบินไปลงที่ท่าอากาศยานลากวาร์เดีย เมืองนิวยอร์ก ขอให้โชคดี” แต่เส้นทางตะวันตกไม่มีสถานีซ่อมบำรุง ไม่มีสถานีเติมน้ำมัน และเป็นเส้นทางที่ยาวไกลมาก ไม่เคยมีเครื่องบินพาณิชย์ลำใดใช้เส้นทางนี้มาก่อน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีแผนที่การบิน มันคือเส้นทางนรกดีๆนี่เอง
กัปตันโรเบิร์ตพาลูกเรือ 3 คน ไปยังห้องสมุดขอดูแผนที่โลก ปูมเรือ ข้อมูลกระแสลม กระแสน้ำ ทั้งหมดเท่าที่ห้องสมุดมี ไม่นานนักพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่าต้องบินไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งหน้าไปอินโดนีเซีย จากนั้นไปอินเดีย หาทางไปสู่แอฟริกา ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันอีกที
ขณะที่ลูกเรือกำลังลอกสัญลักษณ์และเครื่องหมายต่างๆบนตัวเครื่องบินออก โรเบิร์ตก็ได้รับโทรเลขอีกฉบับจากสำนักงานใหญ่ “กองทัพญี่ปุ่นยึดสมรภูมิแปซิฟิก ให้รีบไปอพยพเจ้าหน้าที่แพนแอมที่เมืองมูเมอาทันที” ปัญหาก็คือ โรเบิร์ตยังลอกเครื่องหมายต่างๆบนเครื่องบินไม่เสร็จ แถมยังต้องถอดชิ้นส่วนอะไหล่จากเครื่องบินลำอื่นมาใช้สำรองเพื่อการเดินทางไกล
แน่นอนว่าชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญกว่าการลอกเครื่องหมายบนตัวเครื่องบิน โรเบิร์ตหยุดการลอกเครื่องหมาย ใช้เวลาที่มีถอดชิ้นส่วนอะไหล่นำขึ้นเครื่องบินและออกบินทันที หลังจากอพยพเจ้าหน้าที่แพนแอมมายังที่ปลอดภัยสำเร็จ โรเบิร์ตต้องแวะเติมน้ำมันที่เมืองแกลดสโตน ประเทศออสเตรเลีย ก่อนออกเดินทางกลับบ้าน
เกือบโดนสอย
เครื่องบินโบอิ้ง 314 ใช้น้ำมันออกเทน 100 เท่านั้น แต่สนามบินเมืองแกลดสโตนไม่มีน้ำมันออกเทน 100 โรเบิร์ตต้องใช้เวลา 11 ชั่วโมงบินต่อไปยังเมืองดาร์วิน โชคดีที่เมืองดาร์วินมีน้ำมันออกเทน 100 แต่มันอยู่ในถังเก็บไม่มีสายสูบน้ำมัน ต้องกรอกใส่ถังน้ำมันแบบที่ติดท้ายรถจี๊ปไปทีละถังจนกว่าจะเต็ม และอย่าลืมว่าเครื่องบินจอดอยู่ในทะเล ไม่ใช่บนพื้นดิน
กว่าจะได้น้ำมันเต็มถังก็ล่วงเข้าเวลา 02.00 น. ของวันที่ 18 ธันวาคม ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้นโรเบิร์ตก็ออกเดินทางต่อ เมื่อเข้าน่านฟ้าอินโดนีเซีย กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ก็ส่งเครื่องบินขับไล่เข้าประกบ กัปตันโรเบิร์ตสั่งให้ส่งวิทยุบอกว่าเป็นพันธมิตร แต่กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ไม่ได้รับข้อความ
ขณะเดียวกันนักบินขับไล่แจ้งว่าไม่เห็นสัญลักษณ์ใดๆบนตัวเครื่องบิน น่าจะเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดญี่ปุ่นที่ชะล่าใจบุกเดี่ยวเข้ามาโดยไม่มีเครื่องบินคุ้มกัน ขออนุมัติคำสั่งยิง ผู้บัญชาการรบบอกให้ดูให้แน่ใจว่าเป็นศัตรู สักพักใหญ่ๆนักบินคนหนึ่งแจ้งว่าเห็นธงชาติอเมริกาบนด้านบนของลำตัวเครื่องบิน
โชคดีที่โรเบิร์ตยังลอกเครื่องหมายและสัญลักษณ์บนตัวเครื่องบินออกไม่หมด ไม่เช่นนั้นเขาคงถูกยิงตกกลางทะเลไปแล้ว แต่โชคร้ายยังไม่หมดเสียทีเดียว เพราะฐานทัพอากาศอินโดนีเซียไม่มีน้ำมันออกเทน 100 มีแต่น้ำมันออกเทน 90
น้ำมันออกเทนต่ำ
โรเบิร์ตไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเติมน้ำมันออกเทน 90 ช่างเครื่องแนะนำให้ถ่ายน้ำมันออกเทน 100 ที่เหลือมาไว้ในถังหลัก เพื่อใช้ในการบินขึ้นและบินลง ถังน้ำมันที่เหลือเติมน้ำมันออกเทน 90 ใช้สำหรับการบิน
ที่หมายต่อไปคือเมืองตรินโคมาลี ประเทศศรีลังกา “ปัง” เสียงเครื่องยนต์ระเบิด “การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์” ช่างเครื่องบอกกัปตัน เขาพยายามปรับอัตราส่วนผสมอากาศ กัปตันลดเพดานบินลงต่ำเพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไป ช่างเครื่องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะปรับอัตราส่วนไม่ให้เกิดการระเบิดได้
แต่ปัญหายังไม่หมดแค่นั้น กัปตันไม่เคยบินเส้นทางนี้ เขาคำนวณจากการดูแผนที่โลก สายตาสอดส่องมองหาแผ่นดินขณะที่เครื่องบินอยู่เหนือผิวน้ำเพียงแค่ 300 ฟุต “กัปตันดูนั่น เหมือนจะเป็นปลาวาฬ” ผู้ช่วยนักบินร้องบอก โรเบิร์ตหันหน้าไปมอง “เรือดำน้ำ!” เขาตะโกนขณะที่ดึงคันบังคับให้เครื่องบินเชิดหัวขึ้นจนกระทั่งหายเข้าไปในกลีบเมฆ
ในที่สุดโรเบิร์ตก็เดินทางมาถึงเมืองตรินโคมาลี และได้น้ำมันออกเทน 100 มาเติมจนเต็มถัง แต่ข่าวร้ายคือยังมีน้ำมันออกเทน 90 ค้างอยู่ในถังบางส่วน เสียงเครื่องยนต์ระเบิดจากการใช้น้ำมันออกเทน 90 ดังเป็นระยะๆ หลังจากนั้นบินได้ 30 นาทีก็เงียบไป โรเบิร์ตลุกจากที่นั่งเพื่อยืดแข้งยืดขา ทันใดนั้นเสียงระเบิดก็ดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ดังมาก
“เครื่องยนต์หมายเลข 3 สูญเสียแรงดัน” ช่างเครื่องร้องบอก โรเบิร์ตรีบกลับมานั่งที่เดิม บังคับให้เครื่องบินบินกลับไปเมืองตรินโคมาลีเพื่อซ่อมเครื่องยนต์ เขาเสียเวลาไปอีก 1 สัปดาห์กว่าจะนำเครื่องบินขึ้นฟ้าได้อีกครั้ง
ตุ๊มๆต่อมๆ
วันที่ 26 ธันวาคม เครื่องบินมาถึงกรุงการาจี ประเทศอินเดีย และพบกับข่าวร้ายอีกครั้ง ที่นี่ไม่มีน้ำมันออกเทน 100 แม้จะเพิ่งผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาหยกๆ แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเติมน้ำมันออกเทน 90 แต่คราวนี้เขาลองใช้วิธีผสมน้ำมันออกเทน 100 และ 90 เข้าด้วยกัน
วันที่ 31 ธันวาคม โรเบิร์ตเดินทางถึงเมืองคาร์ทูม ประเทศซูดาน โดยไม่มีเหตุให้อกสั่นขวัญแขวน โรเบิร์ตได้น้ำมันออกเทน 100 จากกองทัพอากาศอังกฤษ และยังได้รับแผนที่การบินด้วย ไม่จำเป็นต้องนั่งคำนวณจากแผนที่โลกด้วยตนเองอีก
เป้าหมายต่อไปคือเมืองกินชาซา ประเทศคองโก ซึ่งมีสำนักงานแพมแอมอยู่ที่นั่น ถึงแม้จะเป็นเพียงสาขาเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ลูกเรือรู้สึกอุ่นใจ โรเบิร์ตบังคับเครื่องบินแท็กซี่ไปตามลำน้ำไนล์ จู่ๆก็เกิดเสียงดัง “เครื่องยนต์หมายเลข 1 สูญเสียบานบังคับท่อไอเสีย ไอเสียพ่นตรงเข้าใส่ปีกเครื่องบิน” ช่างเครื่องร้องบอก “แค่เสียงดัง แต่ไม่มีผลกับการบิน หวังว่านะ”
โรเบิร์ตพาเครื่องบินไปถึงเมืองกินชาซาอย่างปลอดภัย แต่ที่ผ่านมานั้นยังเทียบไม่ได้กับเที่ยวบินต่อไปซึ่งเขาจะต้องบินรวดเดียวไปยังเมืองนาตาล ประเทศบราซิล ที่อยู่ห่างออกไป 3,480 ไมล์ ขณะที่เครื่องบินโบอิ้ง 314 บินรวดเดียวได้ไกลสุด 3,600 ไมล์ในสภาพอากาศปรกติ นั่นหมายถึงหากเจออากาศแปรปรวนระหว่างเดินทางโรเบิร์ตอาจไปไม่ถึงจุดหมาย
เก่งเกินตัว
โรเบิร์ตนำเครื่องบินแท็กซี่ไปตามแม่น้ำคองโก ตามสเปกของเครื่องยนต์โบอิ้ง 314 สามารถเดินเครื่องเต็มกำลังเพื่อขึ้นบินได้นานไม่เกิน 90 วินาที เขาไม่ได้ซ่อมบานบังคับไอเสียเพราะไม่มีอะไหล่เหลือ เสียงท่อไอเสียครางกระหึ่ม 70 วินาทีผ่านไป เครื่องบินไม่มีทีท่าว่าจะลอยขึ้นจากน้ำ
เข็มบอกความเร็วชี้ที่ 70 นอต “91 วินาที” ช่างเครื่องร้องเตือน สายตาจับจ้องอยู่ที่เข็มบอกอุณหภูมิเครื่องยนต์ที่ชี้ตรงเส้นสีแดง “เดินเครื่องเต็มกำลัง” กัปตันสั่ง “ความร้อนถึงเส้นแดงแล้ว มันจะระเบิดได้นะ” ช่างเครื่องเตือนอีกครั้ง
โรเบิร์ตทำหูทวนลม ในที่สุดเครื่องบินก็ลอยตัวขึ้น “100..110..120..130..” ช่างเครื่องนับเวลาที่เครื่องยนต์เดินเต็มกำลัง แต่การไต่เพดานบินไม่สูงพอ มีหน้าผาอยู่ตรงหน้า “ช่างเครื่อง เกิดอะไรขึ้น เครื่องบินไม่เชิดหัว”
“น้ำมันสำรองที่ปีกมากไปทำให้ปีกงอ เลยไปขัดสายเคเบิลบังคับทิศทาง” ช่างเครื่องบอกสาเหตุ โรเบิร์ตดึงคันบังคับอย่างแรง เครื่องบินพ้นหน้าผาอย่างเฉียดฉิว “140..150..160..170..” ช่างเครื่องยังคงนับเวลาเดินเครื่องยนต์เต็มกำลัง 170 วินาที เกือบจะมากเป็นเท่าตัวของที่วิศวกรแนะนำ
23 ชั่วโมง 35 นาทีต่อมา แพนแอม NC18602 ก็เดินทางถึงเมืองนาตาล มันเป็นการเดินทางรวดเร็วที่ยาวนานที่สุดของเครื่องบินโบอิ้ง 314 หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้รับเสบียงและของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง จนกระทั่งเดินทางถึงท่าอากาศยานลากวาร์เดีย เมืองนิวยอร์ก อย่างปลอดภัย
เครื่องบินสะเทินน้ำแพนแอม NC18602 เป็นเครื่องบินพาณิชย์ลำแรกที่เดินทางรอบโลก แต่วีรกรรมในครั้งนี้แทบไม่มีใครพูดถึง เพราะช่วงเวลานั้นโลกตกอยู่ในวิกฤตสงครามโลก สังคมอเมริกันอยากเห็นฮีโร่ทหารมากกว่าฮีโร่พลเรือน
1.กัปตันโรเบิร์ต ฟอร์ด
2.ห้องนักบินโบอิ้ง 314
3.เครื่องบินโบอิ้ง 314 ออกตัวขึ้นบิน
4.สนามบินน้ำเมืองออคแลนด์
5.แพนแอม NC18602 ลงจอดที่ท่าอากาศยานลากวาร์เดีย
6.เส้นทางบินรอบโลกของโรเบิร์ต
You must be logged in to post a comment Login