วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“กูเกิล-หัวเว่ย “ค่ายมือถือจีนจะสูญเสียอะไรบ้าง?

On May 21, 2019

บีบีไทยรายงานสงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน ที่มีผลต่อมาตราการของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึืงล่าสุดสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ของหัวเว่ยจะไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันบางตัวของกูเกิลได้อีกต่อไป

มาตราการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้หัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทที่ธุรกิจอเมริกันไม่สามารถทำการค้าด้วยได้ นอกเสียจากจะได้รับอนุญาต โดยกูเกิลระบุว่า พวกเขาทำตามคำสั่งดังกล่าว และกำลังศึกษาผลกระทบที่จะตามมา

ด้านหัวเว่ยระบุว่า บริษัทจะยังคงให้บริการอัพเดทด้านความปลอดภัย และจะให้บริการหลังการขายของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของหัวเว่ยและออเนอร์ (Honor) ทั้งที่ขายไปแล้วและยังอยู่ในคลังสินค้าทั่วโลก ต่อไป “เราจะสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยและยั่งยืนต่อไป เพื่อที่จะให้ผู้ใช้ทั่วโลกได้มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด”

ผู้ใช้หัวเว่ยจะทำอย่างไร

ผู้ที่ใช้หัวเว่ยอยู่แล้วจะสามารถอัพเดทแอปพลิเคชันและการแก้ไขด้านความปลอดภัย รวมถึงอัพเดตบริการ Google Play ได้ แต่หลังจากกูเกิลเปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่ในปีนี้ เครื่องหัวเว่ยก็อาจจะไม่สามารถอัพเดตได้ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของหัวเว่ยรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันอย่าง YouTube และ Maps ได้

เบ็น วูด จากบริษัทวิจัยด้านการตลาด CCS Insight บอกว่า นี่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดผู้บริโภคของหัวเว่ย

หัวเว่ยทำอะไรได้

เมื่อวันพุธที่แล้ว (15 พ.ค.) รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มหัวเว่ยให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอของหัวเว่ย บอกกับสื่อญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ว่า “เราได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ไว้แล้ว” เขาบอกว่า บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาส่วนประกอบในการผลิตมือถือของตัวเองต่อไป

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ บอกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยสำหรับระบบเครือข่ายมือถือ 5G อาจทำให้เกิดความเสี่ยง หลายประเทศกังวลว่าทางการจีนใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในการสอดส่องควบคุม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่บริษัทให้การปฏิเสธ

หัวเว่ยบอกว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ทำให้เกิดความเสี่ยง และก็ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับรัฐบาลจีนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บางประเทศห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมใช้ผลิตภัณฑ์หัวเว่ยสำหรับเครือข่ายมือถือ 5G แต่สหราชอาณาจักรยังไม่ได้ประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ

นายวูด จาก CCS Insight บอกว่า หัวเว่ยพยายามอย่างหนักที่จะพัฒนา App Gallery ซึ่งเป็นฐานแอปพลิเคชันของตัวเอง รวมถึงซอฟต์แวร์อื่น ๆ และ “ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นความพยายามของบริษัทที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง”

บทวิเคราะห์โดย ลีโอ เคลิออน บรรณาธิการด้านเทคโนโลยีบีบีซีระบุว่า ในระยะสั้น นี่อาจจะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์หัวเว่ยที่วางขายในโลกตะวันตก ผู้ซื้อสมาร์ทโฟนจะไม่อยากได้โทรศัพท์แอนดรอยด์ที่ไม่สามารถเข้า Google’s Play Store ได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว นี่อาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากระบบปฏิบัติการของกูเกิลเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่กูเกิลพยายามจะผลักดันสมาร์ทโฟน Pixel ของตัวเอง

ดูเหมือนว่าหัวเว่ยจะเตรียมตัวโดนตัดขาดไว้แล้ว และหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้บอกกับหนังสือพิมพ์ Die Welt ไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เราได้เตรียมระบบปฏิบัติการของเราเองไว้ นั่นเป็นแผนสำรอง”

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับหัวเว่ยที่อยากก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของโลกแทนซัมซุงภายในปี 2020

สงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างบริษัทนี้กับทางการสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นอีก

ขณะนี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องคดีอาชญากรรมต่อหัวเว่ยกว่า 20 คดีแล้ว และยังต้องการให้ส่งตัว นางเมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารหัวเว่ยและลูกสาวของผู้ก่อตั้ง กลับสหรัฐฯ หลังจากถูกจับกุมตัวเมื่อ ธ.ค. ที่แล้วที่แคนาดา ตามคำเรียกร้องของทางการสหรัฐฯ

นี่เป็นช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้าของกันและกันนับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2 เท่า ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้บางฝ่ายประหลาดใจเนื่องจากก่อนหน้านี้ดูเหมือนทั้งสองจะเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว ในช่วงปีที่ผ่านมา สงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สร้างความไม่แน่นอนสำหรับทั้งธุรกิจต่าง ๆ และผู้บริโภค


You must be logged in to post a comment Login