วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ราชวิทยาลัย”ชี้ยังไม่มีงานวิจัยใช้สารออกฤทธิ์ในกัญชารักษามะเร็ง

On May 21, 2019

ในการแถลงข่าวราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเรื่อง “สังคมไทย : ทางไปของกัญชา” ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อายุรแพทย์ศูนย์พิษวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวในเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชากันมากจนบางครั้งเกิดความสับสนของข้อมูลและความเข้าใจของประชาชน โดยในทางการแพทย์อยากให้มองเรื่องกัญชาที่การใช้ประโยชน์จากสารออกฤทธิ์ในตัวกัญชา นั่นคือสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ ซึ่งประกอบด้วยสาร THC และ CBD ที่ทางการแพทย์ในประเทศเปิดเสรีกัญชาหลายประเทศได้นำมาใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยทางการแพทย์ การใช้สาร THC ในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในปริมาณสูงจะทำให้มีอาการเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้ การตัดสินใจ และความจำนอกจากนี้การใช้สารชนิดนี้ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้

ส่วนสาร CBD เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตที่เกิดจากสาร THC จึงใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด โดยพืชกัญชาแต่ละพันธุ์จะมีสาร THC และ CBD ต่างกัน ขึ้นอยู่กับเทคนิคการปลูก ในการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ระดับค่าเฉลี่ยของ THC ในพืชกัญชาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 4 ในปี 1995 เป็นร้อยละ 12 ในปี 2015 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสาร CBD ลดลงจากเดิมร้อยละ 0.5 ในปี 2000 เหลือเพียงร้อยละ 0.1 ในปี 2015 ดังนั้น การจะนำมาใช้ทางการแพทย์ต้องควบคุมให้มีปริมาณสารที่คงที่และไม่มีสาร THC สูงเกินไป

ทั้งนี้ เห็นว่าการใช้สาร THC ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถใช้เป็นกลุ่มยาได้ แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก โดยในการนำมาสกัดเป็นยาต้องมีมาตรฐานและมีปริมาณสารออกฤทธิ์เท่ากันทุกชุด ไม่มีวัตถุเจือปน และเป็นการผลิตที่ได้มาตรฐานในห้องทดลอง ไม่ใช่ทำกันเองหรือแจกเองได้โดยทั่วไป พร้อมทั้งวัตถุดิบต้องมาจากการผลิตที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมเพื่อควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปเกณฑ์ของการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจะมีสาร CBD ใกล้เคียงหรือมากกว่า THC เพื่อป้องกันการนำไปเสพและเกิดการติดยา ที่สำคัญจากข้อมูลการศึกษาวิจัยทั่วโลกมีข้อบ่งชี้ว่าสารในกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ในคนนั้น ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้คลื่นไส้ และแก้ลมชัก ไม่ใช่ยารักษามะเร็ง และไม่มีข้อมูลงานวิจัยใดๆที่ระบุว่าสารในกัญชาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่ที่มีผู้ป่วยออกมาระบุว่าใช้แล้วหายอาจเป็นไปได้ว่ามีการใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน โดยหลังจากมีความตื่นตัวการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาของน้ำมันสกัดกัญชาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในรูปน้ำมัน เนย และขี้ผึ้ง นำมาแปรรูปเป็นขนมหรืออาหาร ซึ่งพบว่ามีระดับ THC สูงกว่าที่พบในธรรมชาติหลายเท่าด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูภายนอกไม่ต่างกับขนมหรืออาหารทั่วไป ทำให้เกิดการกินโดยไม่ตั้งใจ และกินในปริมาณมากจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ในการใช้ประโยชน์จากกัญชาจึงอยากให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจและตระหนักเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด และไม่เกิดปัญหาจนต้องออกมาตรการควบคุมเหมือนในหลายประเทศที่เปิดเสรีกัญชาไปก่อนหน้านี้


You must be logged in to post a comment Login