- อย่าไปอินPosted 16 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ซะกาตุลฟิฏร์ปิดท้ายเดือนรอมฎอน
คอลัมน์ สันติธรรม
ซะกาตุลฟิฏร์ปิดท้ายเดือนรอมฎอน
โดย บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 24-31 พฤษภาคม 2562)
เมื่อนบีมุฮัมมัดถูกวางแผนลอบสังหารในขณะปฏิบัติภารกิจเผยแผ่อิสลามในเมืองมักก๊ะฮฺ ท่านได้อพยพไปยังเมืองยัษริบ (หรือมะดีนะฮฺ) เป็นรายล่าสุดหลังจากบรรดาสาวกผู้ศรัทธาของท่านได้แอบทยอยอพยพกันไปเป็นกลุ่มๆก่อนหน้านี้แล้ว
เมืองยัษริบเปิดโอกาสให้นบีมุฮัมมัดและมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามความศรัทธาได้อย่างเสรีโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวยัษริบจำนวนหนึ่งที่ต้อนรับท่าน ไม่เพียงเท่านั้น ชาวยัษริบกลุ่มนี้ยังให้สัตย์สาบานว่าจะเชื่อฟังท่านในฐานะผู้นำของพวกตน
เนื่องจากการอพยพไปยังยัษริบต้องเป็นไปแบบหลบๆซ่อนๆ ดังนั้น มุสลิมที่อพยพมาจึงไม่สามารถนำทรัพย์สินติดตัวมา คนเหล่านี้ต้องทิ้งบ้าน สวน ปศุสัตว์ ครอบครัว และญาติพี่น้องของตัวเองมา เพื่อแลกกับเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงอยู่ในฐานะยากจน
นบีมุฮัมมัดเห็นถึงความสำคัญของคนเหล่านี้ที่ยอมสละสิ่งจำเป็นในชีวิต ท่านจึงรีบให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ก่อน เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถลืมตาอ้าปากลุกขึ้นมาช่วยงานของท่านได้
ช่วงแรกๆที่ไปถึงเมืองยัษริบจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการตั้งตัวและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สาวกของท่าน และนบีมุฮัมมัดต้องรีบทำด้วย เพราะท่านรู้ว่าพวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺที่เคียดแค้นท่านและบรรดาสาวกที่อพยพมาอยู่กับท่านคงไม่ล้มเลิกแผนการกำจัดท่านเป็นแน่
เมื่อไปถึงที่นั่นท่านได้สานความสัมพันธ์ฉันพี่น้องขึ้นระหว่างชาวยัษริบท้องถิ่นที่ศรัทธาในอิสลามกับชาวมักก๊ะฮฺที่อพยพไปที่นั่น ท่านสั่งให้ชาวยัษริบที่มีอันจะกินรับผู้อพยพไปอุปการะในฐานะพี่น้องของตน และตามธรรมเนียมของชาวอาหรับในเวลานั้น ใครที่ได้รับการอุปการะมาเป็นลูกหรือเป็นพี่น้องมีสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้อุปการะเหมือนกับลูกในไส้หรือพี่น้องที่คลานตามกันออกมา
ชาวยัษริบบางคนรับผู้อพยพไปอาศัยที่บ้านของตน บางคนเสนอที่จะหย่าภรรยาคนหนึ่งของตนเพื่อให้ไปแต่งงานกับผู้อพยพ บางคนเสนอที่จะให้ทรัพย์สินก้อนโตเพื่อนำไปตั้งตัว ข้อเสนอหลังสุดนี้ผู้อพยพบางคนเกรงใจไม่รับทรัพย์สินที่เสนอให้ แต่ขอให้บอกว่าตลาดอยู่ที่ไหน เพื่อที่ตัวเองจะได้ไปใช้แรงงานหารายได้ที่นั่น
ในยัษริบนอกจากจะมีชาวอาหรับอาศัยอยู่แล้ว ยังมีชาวยิว 3 เผ่าที่อพยพหลบหนีจากเมืองเยรูซาเล็มมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นรวมอยู่ด้วย ชาวยิวที่นั่นมีประเพณีทางศาสนาอย่างหนึ่งคือการถือศีลอดเพื่อรำลึกถึงวันที่โมเสสขึ้นไปรับคัมภีร์โตราห์จากพระเจ้าบนภูเขาซีนาย และการถือศีลอดของชาวยิวนี้ทำให้ชาวอาหรับก่อนหน้าอิสลามปฏิบัติตามเป็นประเพณีในวันที่มีการเปลี่ยนผ้าคลุมก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
ด้วยความเคารพในโมเสสและสาวกชาวยิวของท่านที่ยังคงถือศีลอด นบีมุฮัมมัดได้สั่งให้บรรดาสาวกของท่านถือศีลอดตามแบบชาวยิว ในตอนนั้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของมุสลิม ส่วนการละหมาดประจำวันนบีมุฮัมมัดได้สั่งมุสลิมให้หันหน้าไปทางเดียวกับที่ชาวยิวหันไปในเวลาสวดมนต์ นั่นคือเมืองเยรูซาเล็ม
เมื่อนบีมุฮัมมัดนำอิสลามไปเผยแผ่แก่ชาวยิวและท่านถูกปฏิเสธอย่างดูแคลนทั้งๆที่จำนนต่อหลักฐานแล้ว ตรงจุดนี้เองที่พระเจ้าได้สั่งนบีมุฮัมมัดให้หันหน้าไปยังเมืองมักก๊ะฮฺในเวลาละหมาดแทนเมืองเยรูซาเล็ม และกำหนดให้มุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตามแบบที่ถืออยู่ในปัจจุบัน
แม้นบีมุฮัมมัดได้รับการนับถือว่าเป็นผู้นำ แต่ในเวลานั้นท่านไม่มีรัฐบาลหรือรัฐมนตรีคอยดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน สิ่งที่ท่านทำได้คือท่านกระตุ้นให้สาวกของท่านใช้จ่ายในครอบครัวและในหมู่มุสลิมเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน และก่อนที่การถือศีลอดครั้งแรกในเดือนรอมฎอนจะมาถึง ท่านได้กำชับมุสลิมทุกคนให้ถือศีลอด และก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอนมุสลิมที่มีอาหารเหลือพอกินหนึ่งวันต้องนำข้าวหรือแป้งประมาณ 2.5 กิโลกรัมไปให้แก่คนยากจน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะพระเจ้า และเพื่อให้คนยากจนได้มีอาหารสำหรับเฉลิมฉลองวันอีดุลฟิฏร์อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข ข้าวหรือแป้งที่ให้แก่คนยากจนก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอนนี้เรียกว่า “ซะกาตุลฟิฏร์”
นับแต่นั้นมาการจ่ายซะกาตุลฟิฏร์แก่คนยากจนจึงเป็นภารกิจปิดท้ายที่มุสลิมปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันก่อนที่เดือนรอมฎอนจะสิ้นสุดลง
You must be logged in to post a comment Login