- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 1 month ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 1 month ago
- โลกธรรมPosted 1 month ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 1 month ago
- สลายความเกลียดชังPosted 1 month ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 1 month ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 1 month ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 1 month ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 1 month ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 1 month ago
ตัวแปรใหม่

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23 พ.ค. 62)
การเมืองเปลี่ยนเร็ว แม้ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่เป็นตัวแปรสำคัญจะประกาศจับมือกันแน่นแบบไปไหนไปด้วยกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองการเข้าร่วมรัฐบาล พลันก็เกิดตัวแปรใหม่เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่ามี ส.ว. อย่างน้อย 50 คน ต้องการความเป็นอิสระในการลงคะแนน โดยจะเริ่มจากการโหวตเลือกประธานและรองประธาน ส.ว. ที่จะไม่ขอทำตามใบสั่ง หากความต้องการเป็นอิสระลากยาวไปถึงวันโหวตเลือกนายกฯก็น่าสนใจว่า 50 เสียงจะเทไปให้ฝ่ายใด ช่วงเวลาที่เหลือก่อนถึงวันชี้ขาดการต่อรองเข้มข้นแน่นอน
ครบรอบ 5 ปีการยึดอำนาจปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน อย่างไร ดีขึ้นหรือตกต่ำลง ประชาชนคงสามารถพิจารณาและตัดสินกันเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำ
ผู้นำการยึดอำนาจ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำลังลุ้นตัวโก่งในการต่อตั๋วอำนาจนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปอีก 4 ปี ภายในไม่เกินสิ้นเดือนนี้น่าจะได้รู้กันว่าจะสามารถไปต่อได้หรือไม่
ตามทฤษฎีแม้จะมีแนวโน้มเป็นไปได้ค่อนข้างมาก แต่โอกาสที่จะพลิกก็ยังพอมีอยู่ถึงจะไม่มากเท่าไรก็ตาม
ถึงตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลประกาศจับมือกันแน่นเพื่อนำ ส.ส. 103 เสียงในมือไปต่อรองกับพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
การมี 103 เสียงทำให้อำนาจการต่อรองมีมากขึ้น เสียงดังมากขึ้น ทำให้พรรคแกนนำต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของทั้ง 2 พรรคการเมืองมากขึ้น หมายความว่าเราจะได้เห็นนโยบายกัญชาเสรีในรัฐบาลชุดใหม่ และได้เห็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์นั่งเก้าอี้กระทรวงสำคัญๆทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการ
การต่อสู้ในสภายกแรกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา
หากดูตามข้อบังคับการประชุมที่ให้ลงคะแนนโดยลับอาจทำให้การต่อสู้ไม่เข้มข้น เพราะการลงคะแนนลับเป็นการง่ายที่จะทำให้ ส.ส. แต่ละคนลงคะแนนให้คนหรือฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนให้เป็นประธานและรองประธานสภา
ขั้นตอนการลงคะแนนลับคือ เจ้าหน้าที่จะแจกบัตรลงคะแนนพร้อมซองใส่บัตรให้กับ ส.ส. คนละใบเพื่อให้ใช้ลงคะแนน จากนั้นจะเรียก ส.ส. ทีละคนให้นำบัตรไปหย่อนลงกล่อง ก่อนที่จะตั้งตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆมาเป็นคณะกรรมการตรวจนับคะแนน
ในขั้นตอนนี้ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร ใครทำตามมติพรรค ใครเป็นงูเห่าแหกมติพรรค ทำให้ผลคะแนนที่ออกมามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะคะแนนเสียงที่ปรากฏออกมาในการเลือกประธานและรองประธานสภาจะสะท้อนไปถึงคะแนนเสียงที่จะสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในการลงคะแนนเลือกประธานและรองประธานสภานั้นไม่ได้มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง เพียงแต่กำหนดว่าใครได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดคือผู้ชนะโหวต
ดังนั้น คนที่ชนะโหวตได้เป็นประธานและรองประธานสภาอาจมีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ ส.ส. หรือ 250 คนก็ได้
หากผู้ชนะโหวตได้เกิน 250 เสียงก็การันตีได้ว่าจะได้รัฐบาลที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาเข้ามาบริหารประเทศ
แต่หากไม่ถึงก็เป็นไปได้สูงว่าจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศ เพราะภายใต้กติกาที่เขียนไว้อย่างพิสดารนี้ การโหวตเลือกนายกฯมีโอกาสพลิกล็อกได้ยาก แม้จะเริ่มมีกระแสข่าวออกมาว่ามี ส.ว. ประมาณ 50 คนต้องการลงคะแนนโดยอิสระ โดยจะเริ่มประเดิมจากการโหวตเลือกตำแหน่งประธานและรองประธาน ส.ว.
หากความต้องการโชว์ความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอาณัติของใคร ลากยาวไปถึงวันประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีก็น่าสนใจว่า 50 เสียงของ ส.ว. กลุ่มนี้จะเทไปให้ใคร จะไปกันทั้งกลุ่มหรือไปเป็นบางส่วน
ต้องไม่ลืมว่าอีกขั้วที่รวมเสียง ส.ส. ได้จำนวนมากต้องการเสียงจาก ส.ว .เพียง 15-20 เสียงเท่านั้นในการโหวตเลือกนายกฯเพื่อพลิกเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
เกมชิงอำนาจจะจบอย่างไรไม่รู้ แต่ความต้องการประกาศอิสรภาพของ 50 ส.ว. จะทำให้ช่วงเวลาที่เหลือก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกฯตื่นเต้นเร้าใจขึ้นแน่นอน
You must be logged in to post a comment Login