วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“วิษณุ”ยันได้นายกฯคนใหม่เดือนพ.ค.นี้

On May 23, 2019

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนส่งต่อไปยังรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต้องรู้ว่าอะไรที่ต้องรีบเคลียร์ให้ได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื้อรังในรัฐบาลหน้า และสรุปสิ่งที่ได้ทำมาเพื่อรายงานนายกฯ คล้ายๆเป็นการปิดเรื่องในส่วนที่ตนเองได้ทำมา แต่สุดแล้วแต่รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร

เมื่อถามว่ามองว่าการเป็นรัฐบาลรัฐประหารเข้ามาแต่อยู่ได้นานขนาดนี้เป็นผลดีหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนให้คนอื่นวิเคราะห์ เพราะเป็นเรื่องการติชม ส่วนจะชอบใจหรือไม่ก็แล้วแต่ทรรศนะแต่ละคน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์บ้านเมืองพร้อมกัน

นายวิษณุกล่าวถึงขั้นตอนหลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) ว่า จะได้นายกฯคนใหม่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนจะตั้งคณะรัฐมนตรีได้ รวมถึงต้องมีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ และยังมีการแถลงนโยบาย ดังนั้น จะใช้เวลาสิ้นสุดไปถึงเดือนมิถุนายน เพียงแค่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก็ทำให้รัฐบาลเก่าพ้นไปแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ยังทำงานยาก เพราะต้องมีการแถลงนโยบายภายใน 15 วัน

เมื่อถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกครั้ง จะเรียกว่าเป็นนายกฯคนที่ 30 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังคงเป็นนายกฯคนที่ 29 อยู่ เช่น จอมพล ป. เป็นนายกฯหลายครั้งก็นับเป็น 1 ป. รวมถึงนายกฯคนอื่นๆแม้จะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งก็นับเป็น 1 เท่านั้น นอกจากนี้ยืนยันว่าในส่วนของตนเองยังไม่มีใครติดต่อทาบทามให้เป็นรองนายกฯในรัฐบาลหน้า และไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน อีกทั้งยังไม่ขอบอกถึงอนาคตเส้นทางการเมืองของตนเอง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีใครเป็นผู้ไปทาบทาม และไม่เชื่อว่ามีใครถูกทาบทาม เพราะใครจะเป็นรัฐบาลยังไม่ทราบ จึงไม่มีใครไปตั้งเงื่อนไขหรือเตรียมการ แต่สำหรับพรรคที่จะร่วมกันเป็นรัฐบาลเวลานี้ก็คงยังไม่พูดถึงตัวบุคคลด้วยซ้ำ อาจจะพูดถึงตำแหน่งเท่านั้น เพราะต้องได้ตำแหน่งถึงจะรู้ว่าใครจะเหมาะ หากเอาคนขึ้นมาก่อนตำแหน่งก็จะซี้ซั้ว วันนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะจับมือกันตั้งรัฐบาลด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่หนึ่งก่อนจะคิดถึงขั้นตอนต่อไป และทุกขั้นตอนมีโอกาสสะดุดได้หมด เนื่องจากเคยมีแล้วที่จับมือกันจะเป็นรัฐบาล แบ่งโควตาและได้รัฐมนตรีแล้ว พอไปถึงขั้นตอนการร่างนโยบายก็เกิดปัญหาและต้องเลิกเลย เพราะบางพรรคไม่ยอมเอานโยบายของตนเองไปร่วมด้วย ซึ่งล้วนเกิดมาแล้วทั้งสิ้น

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่ประธานรัฐสภาควรมาจากพรรคใหญ่หรือไม่ว่า นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา มีเพียง 3 เสียงก็เคยเป็นมาแล้ว ดังนั้น อยู่ที่การยินยอมพร้อมใจกันของสมาชิกที่เลือก อาจเลือกพรรคใหญ่ หรือบางครั้งเมื่อพรรคใหญ่ได้เป็นรัฐบาลแล้วอาจจะเลือกพรรคที่ 2 หรือบางครั้งไม่เกี่ยวกับพรรคที่ 1 หรือพรรคที่ 2 แต่เป็นเรื่องการต่อรอง และอุดช่องว่างที่มองว่าแม้บางพรรคจะมีไม่กี่เสียงแต่อาจทำหน้าที่ได้ดี ไม่มีการโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

สุดท้ายเมื่อถามว่าช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้ไปพูดคุยเรื่องการเมืองกับนายกฯมาหรือไม่ถึงเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมกัน นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดินทางมาพร้อมกับนายกฯ แต่ตนได้นัดทุกฝ่ายไปดูอาคารสถานที่ในการเปิดรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน


You must be logged in to post a comment Login