วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หยุดกางใบให้โจรสลัด

On May 23, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 24-31 พฤษภาคม 2562 )

สัปดาห์สุดท้ายก่อนจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 24 พฤษภาคม แต่ 4 พรรคการเมืองที่มีเสียงในสภา 116 เสียง คือพรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนา 3 เสียง ยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะจับมือตั้งรัฐบาลกับขั้วการเมืองใดระหว่าง 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจที่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เป็นแกนนำกับพรรคพลังประชารัฐ

หลังจากประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการลงคะแนนโดยลับ ไม่รู้ว่า ส.ส. คนใดลงคะแนนให้ผู้ใด ขณะที่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังได้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ปัญหาอยู่ที่ “ลุงตู่”

การจับมือกันแน่นและเลื่อนการแถลงจุดยืนทางการเมืองของ 4 พรรคการเมืองไปจนถึงวันที่ 23-24 พฤษภาคม ก็ยิ่งกดดันพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกระแสข่าวระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐต้องคุม 4 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ (21 พฤษภาคม) ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ใช่การเล่นขายของ “แล้วใครเขาจะเชื่อมั่นรัฐบาล กลายเป็นต่อรองเยอะแยะไปหมด ผมเชื่อว่าจะมีการพูดคุยกันรู้เรื่อง”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังหลงอำนาจและติดยึดความเป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลผสมหลายก๊วนต้องฟังเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลและฟังเสียงของประชาชน

ผลการเลือกตั้งที่ทำให้เสียง 2 ขั้วการเมืองก้ำกึ่งกัน จึงกดดัน 2 พรรคตัวแปร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีปัญหาแค่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี แต่กังวลแรงกดดันของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และกังวลภาวะการเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ใช่ลักษณะผู้นำรัฐบาลที่มาจากประชาชน

“อีแอบ” แทรกแซงประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นแตกต่างกันชัดเจน ไม่ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือฟรีโหวตก็มี “งูเห่า” แน่นอน และมีโอกาสสูงที่พรรคจะแตกอย่างครั้งกลุ่ม 10 มกรา โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยร่วมกับ กปปส. ต้องการให้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนประกาศจะลาออกจากสมาชิกพรรคหากร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อย่าง “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทายาทของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในคณะราษฎร ประกาศจะขอลาออกจากสมาชิกพรรค เพราะต้องรักษาสัจจะของนักการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับการเลือกตั้งสกปรกปี 2500 สู้กับเผด็จการมากมาย รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ถูกกดดันทั้งในพรรคและนอกพรรคให้ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงปล่อยข่าวดิสเครดิต “ผู้มากบารมี” ภายในพรรค และยังมีการดึงสถาบันเบื้องสูงมาบิดเบือนอีก เพราะนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รวมทั้งนายจุรินทร์เคยประกาศจุดยืนก่อนการเลือกตั้งว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโต้ตอบทั้งการพาดพิงของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่ระบุว่ามี “อีแอบ” ในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างญี่ปุ่น ทั้งที่ความจริง “อีแอบ” มีการใช้อิทธิพลจากภายนอกและอำนาจเงินเพื่อครอบงำพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรู้ดีว่าเป็นใคร

เลือกตั้งผู้ว่าฯ ล้มล้างราชอาณาจักรไทย

ขณะที่ ม.จ.จุลเจิมได้โพสต์ (22 พฤษภาคม) ตอบโต้นายชวนโดยมีภาพนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ขณะพูดเรื่องการกระจายอำนาจ “นโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ว่าเป็นการ “ล้มล้างราชอาณาจักรไทย” เพราะไม่ได้มาจาก “หลายๆรัฐ” มารวมตัวกันแล้วจัดตั้งเป็นประเทศและมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐหรือประมุขประเทศ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการกระจายอำนาจการปกครอง เป็นการแบ่งแยกประเทศออกเป็นรัฐหลายรัฐ หรือสหพันธรัฐ (Federal System) ถ้าไม่ใช่เป็นการ “ล้มล้างราชอาณาจักรไทย” แบ่งประเทศออกเป็นหลายรัฐ ยกเลิกสถาบัน แล้วจะให้เรียกว่าอะไร??

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย

พรรคพลังประชารัฐต้องได้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด หรืออย่างน้อย 49 เสียงขึ้นไป จึงจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะแม้พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา จะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

พรรคพลังประชารัฐต้องได้ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จึงจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ 253 เสียง แต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องใช้เสียงจาก ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นผู้แต่งตั้งเอง แต่ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย

หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาล คสช. ก็จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆพร้อมมาตรา 44 ซึ่งหลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นอีก หาก 4 พรรคร่วมกับ 7 พรรคก็จะมีเสียงรวมกันถึง 245+116 = 361 ขาดอีกเพียง 15 เสียงก็สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งจะพิสูจน์ว่า 250 ส.ว. เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน หรือเป็นแค่ “ส.ว.ทาส” ที่ทำตาม “ใบสั่ง”

การเมืองขณะนี้ที่ยังอึมครึมอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐที่มีเสียงข้างน้อยที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ โดยไม่สนใจเสียงครหานินทาถึงความสง่างามทางการเมืองที่ดังกระหึ่ม

2 พรรคตัดสินอนาคตประเทศ

“โอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊ค (21 พฤษภาคม) ว่า ปัญหาการเมืองไทยแก้ไม่ยากหากทุกพรรคมีความเชื่อมั่นในเสียงของประชาชน การเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศอุตส่าห์ตั้งตารอมาเกือบจะครบ 5 ปี ผลลัพธ์พรรคที่ประกาศ “สืบทอดอำนาจลุงตู่” ได้ ส.ส. รวมกันเพียง 120 กว่าคน แต่ตั้งธงจะต้องเป็นรัฐบาล และ “ลุงตู่” ต้องอยู่ต่อให้ได้

ส่วนพรรคที่ประกาศตัวไม่สนับสนุน “ลุงตู่” โดนดูด โดนขู่ โดนเขียนรัฐธรรมนูญให้ยิ่งได้ ส.ส.เขตมากเท่าไร พรรคก็ยิ่งเล็กลงเท่านั้น โดนบัตรเขย่ง โดนนับคะแนนแจกพรรคเล็ก โดนสารพัดจะโดนยังได้ ส.ส. ถึง 245 คน มากกว่าพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจเกิน 2 เท่าตัว

ตัวแปรจึงมาตกอยู่กับพรรคที่อยู่ตรงกลางที่มี ส.ส. รวมกันร้อยคนเศษ หากไปรวมกับขั้วสืบทอดอำนาจก็จะได้รัฐบาลปริ่มน้ำที่ไม่มีเสถียรภาพ ต้องพึ่งน้ำบ่อหน้าจากการยุบพรรคอีกฝ่าย เพื่อซื้อตัว ส.ส. ที่กระจัดกระจายมาช่วยเสริมทัพ และต้องซื้อ “งูเห่า” มาเลี้ยง เท่ากับสนับสนุนให้การเมืองไทยเน่าเหม็นย้อนยุคไปอีกหลายสิบปี

หากตัวแปร 100 กว่าเสียงเข้าร่วมกับขั้วประชาธิปไตยก็จะได้รัฐบาลร่วม 350 เสียง ซึ่งในภาวะปรกติถือเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมากและประชาธิปไตยไปต่อได้อย่างสบาย การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะลงตัวไปนานแล้ว แต่ยุคที่ลุงเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยไปได้ยาก

2 พรรคตัวแปรคือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคประชาธิปัตย์ให้สัญญาชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ และยังยืนยันไม่มีการลงมติสวนทางอุดมการณ์ของพรรค

ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็สัญญาหนักแน่นจะร่วมรัฐบาลกับขั้วการเมืองที่ได้ ส.ส. ในสภาเยอะที่สุด เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงสุด ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 เสียง มากำหนดอนาคตประเทศ สวนทางกับฉันทานุมัติของประชาชน

ตัวเลข 245 กับ 120 ก็ชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทยจะต้องร่วมกับฝั่งไหนการเมืองจึงจะมีเสถียรภาพในสภามากกว่ากัน ถ้า 2 พรรคร่วมรัฐบาลก็จะมีเสียงถึง 348 เสียง จาก 498 เสียง รัฐบาลจะมีเสถียรภาพแน่นปึ้กและประชาธิปไตยไปต่อได้สบาย

เผด็จการคือการใช้อำนาจอยู่เหนือประชาชน ส่วนประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ฉันทานุมัติของประชาชนต้องส่งผ่านไปยังนักการเมืองให้ยกมือโหวตในสภา นักการเมืองที่ไม่รักษาคำพูดและยกมือสวนทางสัญญาที่ให้ไว้คือให้เผด็จการสวมหัวโขนเป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยจะไปในทิศทางใดหลังจากอึมครึมมา 5 ปี จะสืบทอดอำนาจให้ “ลุงตู่” คนเดิมอยู่ต่อไป จึงขึ้นอยู่กับ 2 พรรคหลักที่อยู่ตรงกลาง ถ้าคิดว่าอำนาจเป็นของประชาชน (ไม่ใช่ของลุง) ประชาธิปไตยก็จะชนะ และเราจะชนะไปด้วยกัน

ถ้าเกรงกลัวเผด็จการก็ไม่ควรมีการเลือกตั้ง ใช้งบประมาณไปกว่า 5,000 ล้านบาท เพราะเสียงของประชาชนที่มากกว่าเกิน 2 เท่าก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ได้รัฐบาลที่ปวกเปียกปริ่มน้ำมาบริหารประเทศเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงการ “ชุบตัวเผด็จการ” ให้ดูเป็นประชาธิปไตย

พายเรือให้โจรนั่ง

การเลือกประธานสภาผู้แทนฯและการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมี “งูเห่า” แน่นอน ไม่ว่ากรรมการบริหารพรรคจะมีมติเลือกขั้วการเมืองใดหรือเป็นฝ่ายค้านอิสระ อย่างที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค (20 พฤษภาคม) ถึงการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลว่า “พายเรือให้โจรนั่ง” ซึ่งรัฐบาลใหม่จะไม่ใช่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ได้แค่ “ประชาธิปไตยครึ่งเสี้ยว” บรรดานักการเมืองจึงต้องปรับตัวหลังรัฐบาล คสช. ครองอำนาจมา 5 ปี วางยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อความมั่นคง (ของตัวเอง) สะสมประสบการณ์มากล้น หากนักการเมืองคิดจะต่อรอง สร้างเงื่อนไข “ทหารไทยใจมั่นคง” ไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ เกิดมาทั้งชาติเคยแต่รับคำสั่งกับออกคำสั่ง ไม่เคยให้ใครต่อรอง

เมื่อสถานการณ์เป็นใจให้คะแนนออกมาก้ำกึ่ง ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ต้องเจอด่าน 250 ส.ว. “องครักษ์พิทักษ์ลุง” กกต. “สูตรพิสดาร” งูเห่า “ผุดจากหลุม” รัฐธรรมนูญ “ฉบับออกแบบเพื่อพวกเรา” แต่สุภาษิตบอกว่า “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” มีความหมายว่า แม้วางแผนมาอย่างดีแต่ก็ยังมีช่องโหว่

อำนาจของ “ก๊วน” (fraction) มีมากกว่าอำนาจของ “พรรค” (party) เพราะมีผลประโยชน์เป็นเดิมพัน พรรคไม่สามารถควบคุม ส.ส. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ แม้จะสัมมนากี่ครั้งงูเห่าก็ยังเป็นงูเห่าวันยังค่ำ อย่ามาอ้าง “ขั้วที่สาม” ให้เสียเวลา ประชาชนอุตส่าห์ออกไปเลือกตั้ง แต่ตอนจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเห็นนักการเมือง “พายเรือให้โจรนั่ง”

ทำไมรุมเล่นงาน “ธนาธร”

เสียงที่ก้ำกึ่งกันทำให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคมีความสำคัญมากกับการจัดตั้งรัฐบาล เหมือนกรณีสูตรพิสดารของ กกต. ที่ทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่หายไปถึง 7 คน ทำให้จำนวน ส.ส. ของ 7 พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเหลือ 245 เสียง พรรคพลังประชารัฐจึงมั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาลและ “ลุงตู่” จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ที่สำคัญยังมีการพยายามไม่ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่ ส.ส. ซึ่งจนถึงขณะนี้นายธนาธรตกเป็น “ผู้ต้องหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” รวมทั้งสิ้น 7 คดี เป็นคดีอาญา 3 คดี และข้อหาการเมืองอีก 5 คดี แต่ กกต. ยกคำร้องไป 1 คดี โดยล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวนสอบสวนวินิจฉัยนายธนาธรกรณีให้พรรคยืมเงินส่วนตัวจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เข้าข่ายกระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 หรือไม่

หากนายธนาธรถูกตัดสินว่ามีความผิดขัดหรือฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 124 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีบทลงโทษตามมาตรา 125 คือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนพรรคการเมือง

กกต. เลือกปฏิบัติหรือไม่?

ขณะที่กรณีถือหุ้นสื่อซึ่ง กกต. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยก็จะทำให้นายธนาธรไม่มีสิทธิร่วมประชุมสภาผู้แทนฯ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภริยานายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถือหุ้นเกิน 5% ใน 2 บริษัท ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ว่าเป็นการโอนหุ้นภายใน 30 วันตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และเป็นการโอนหุ้นที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ประเด็นการถือหุ้นสื่อจึงทำให้มีคำถามถึง กกต. ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับเรื่องไว้หรือไม่ ทำไม กกต. จึงเร่งและดำเนินการเฉพาะนายธนาธร อย่างที่นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ถาม กกต. ว่า ผมตอบแทน กกต. ไม่ได้ว่าทำไมมีเรื่องร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส. ร่วม 60 คนที่ถือหุ้นหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน แต่ทำไมรีบยื่นถอดถอนเฉพาะกรณีของนายธนาธรเพียงคนเดียว ดังนั้น ภายใต้มาตรฐานเวลาตรวจสอบแบบเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ กกต. ต้องตอบเองว่าทำไม?

นอกจากนี้นายไพศาลยังโพสต์กรณีนายศรีสุวรรณไปร้องขอเพิกถอน ส.ว. 2 คน อ้างขาดคุณสมบัติเพราะเคยถูกกล่าวหาทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ว่า หนักหน่วงไม่ธรรมดา และอาจกระทบต่อผู้รับผิดชอบว่าเอาคนต้องคดีทุจริตขึ้นทูลเกล้าฯ

อีกประการหนึ่ง หากมีการ “เปลี่ยนบรรทัดฐาน” ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจมี ส.ส. และ ส.ว. ร่วม 70 คนที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คิดกันให้ดีๆ บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเด็กเล่นขายของ

นายไพศาลยังกล่าวถึงกรณีนายธนาธรให้เงินกู้พรรคว่า จะบิดเบือนกฎหมายมาใช้สร้างกระแสไม่ได้ เหมือนก่อนหน้านี้ที่บิดเบือนกดดันให้แจก “ใบส้ม” นายธนาธรซึ่งผิดกฎหมาย การบิดเบือนว่าเงินยืมเป็นรายได้ทำให้เข้าใจผิด ผิดทั้งหลักกฎหมายและหลักบัญชี

หลักกฎหมายถือว่าเงินยืมเป็นภาระหนี้ที่จะต้องชำระคืน ไม่ใช่รายได้ที่จะต้องเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ในทางบัญชีเงินยืมจะไม่ถูกบันทึกในงบรายได้ รายจ่าย หรืองบกำไรขาดทุน เพราะไม่ใช่รายได้ รายจ่าย แต่จะไปบันทึกในบัญชีงบดุลในหมวดว่าด้วยหนี้เงินกู้ยืม

จี้ กกต. สอบ ส.ส. ถือหุ้นสื่อ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความลงในเพจส่วนตนเรียกร้องให้ กกต. เร่งส่งสำนวนว่าที่ ส.ส. ถือหุ้นสื่อให้ศาลวินิจฉัยโดยด่วนก่อนเปิดประชุมสภาเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กกต. ไม่วินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ให้ชัดเจนก่อนจะประกาศให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติได้รับการเลือกตั้งและยังประกาศรับรองให้เป็น ส.ส. อีก ทั้งที่มีผู้ร้องคัดค้านและมีข้อมูลหลักฐานปรากฏก่อนที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

กกต. จึงต้องเร่งส่งสำนวนให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยโดยด่วนที่สุด ไม่ควรให้ ส.ส. ที่ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. ไปใช้อำนาจในการลงมติเลือกประธานสภาหรือนายกรัฐมนตรี จะทำให้ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

หยุดกางใบให้โจรสลัด

การประชุมสภาผู้แทนฯวันที่ 24 พฤษภาคม และเลือกประธานสภาผู้แทนฯวันที่ 25 พฤษภาคม จึงจะได้คำตอบที่ชัดเจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “งูเห่า” อาจโผล่จากรูไหนก็ได้ แม้แต่ขั้วที่สามที่กำลังเป็นกระแสแรงมากขึ้นเรื่อยๆแม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม แต่การเมือง “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร”

ความแน่นอนจึงอาจไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองแบบ “ประเทศกูมี” อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ขั้วไหน แม้แต่ 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย “ทั่นผู้นำ” ไม่ได้เป็น “ทหารเกณฑ์” ที่ต้องทำทุกอย่างตามคำสั่งหรือใบสั่ง

การเมืองขณะนี้จึงเกิดอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้ว 7 พรรค หรือขั้วที่สาม ประเด็นอยู่ที่พรรคการเมืองที่เคยประกาศว่าเป็นพรรคของประชาชนจะทำตามสัญญาหรือไม่ แม้แต่ ส.ว. ก็สามารถแสดงสปิริต แสดงความรับผิดชอบว่าเข้ามาทำงานเพื่อประเทศและประชาชน ลบคำสบประมาทว่าเป็น “ส.ว.ทาส” หรือ “ส.ว.ลากตั้ง” ที่หวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ ส.ว. จะงดออกเสียง หรือลงคะแนนให้ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ โดยไม่ต้องเกรงกลัวกับอำนาจเผด็จการ

วันนี้ “ระบอบ คสช.” กำลังอยู่ในขาลงและเสื่อมลง หากไม่มีอคติก็รู้ดีว่า 5 ปีภายใต้รัฐบาลทหาร ประเทศชาติดีขึ้นจริงหรือไม่ ความมั่นคงและมั่งคั่งกระจุกอยู่กับกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุนใด

ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นวันครบรอบ 5 ปี คสช. ทำรัฐประหาร เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จะ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชน แต่ผ่านมา 5 ปีก็ยังมีความพยายามที่จะ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี แถมยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี ผ่านรัฐธรรรมนูญและกลไกต่างๆที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้การเลือกตั้ง “ฟอกตัว” หรือ “ชุบตัว” ว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ยังเป็นผู้นำคนเดิมและความคิดเดิมๆผ่านพรรคพลังประชารัฐและเครือข่ายต่างๆ

5 ปี คสช. เกินพอแล้วกับการแช่แข็ง “ประเทศกูมี” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนได้ด้วยการหยุดการ “สืบทอดอำนาจ” และตัด “วงจรอุบาทว์” ทำให้ประชาชนเห็นว่านักการเมืองเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นพรรคการเมืองของประชาชน และรับฟังเสียงของประชาชน

แค่..หยุดกางใบให้โจรสลัดนั่ง!!??


You must be logged in to post a comment Login