วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ป๋าเปรม!!

On May 28, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 28 พ.ค. 62)

การถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ด้วยวัย 99 ปี ชื่อของ “ป๋าเปรม” และบ้านสี่เสาเทเวศร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” สู่ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

“ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งนาน 8 ปี 5 เดือน ในยุคที่ถูกเรียกขานว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือ “เปรมาธิปไตย” ที่คนในกองทัพต่างยกย่องเชิดชูว่าเป็นแบบฉบับผู้นำกองทัพและผู้นำประเทศในการปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ด้วยวาทกรรมเป็นคนไทยต้อง “ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”

คนรุ่นหลังจะได้ยินชื่อ “ป๋าเปรม” เกือบทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการเมืองและกองทัพทำการยึดอำนาจ โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องเร่ร่อนออกนอกประเทศจนทุกวันนี้ และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ชื่อของ “ป๋าเปรม” ก็ยังถูกนำมาเอ่ยถึง

บทบาทของ “ป๋าเปรม” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือยุคสงครามเย็นในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังการรัฐประหารปี 2520 ยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ปี 2521 จะก้าวเป็นผู้บัญชาการทหารบก และปี 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย โดยไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเลย

ผลงานของ “ป๋าเปรม” ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากคือ คำสั่ง 66/2523 ให้ “ผู้เข้าร่วม” กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ออกมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ทำให้สงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง

ส่วนฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เกิดขึ้นในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกรัฐบาลมากมาย “ป๋าเปรม” จะใช้วิธีพูดน้อยหรือไม่ให้สัมภาษณ์ ซึ่งผู้สื่อข่าวก็รู้ดี ทำให้ “ป๋าเปรม” ได้อีกฉายาคือ “เตมีย์ใบ้”

การพยายามยึดอำนาจของ “กลุ่มยังเติร์ก” ที่ถือเป็น “ลูกป๋า” ถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทั้งที่ “กลุ่มยังเติร์ก” ผลักดันให้ “ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เจ้าตัวปฏิเสธว่า “ไม่อยากเป็น” และ “ไม่พร้อมที่จะเป็น”

ก่อนที่ “ป๋าเปรม” จะประกาศวางมือทางการเมือง “ผมพอแล้ว” ในปี 2531 และหลังจากนั้น 1 เดือนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรีและเป็นประธานองคมนตรีจนวาระสุดท้ายของชีวิต

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน!!

 


You must be logged in to post a comment Login