- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 1 day ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 4 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 5 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 6 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
เมื่อเข้าฤดูผสม
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม-7 มิถุนายน 2562 )
ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 8 จ.เชียงใหม่ นางศรีนวล คำลือ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 75,819 คะแนน ทิ้งห่างนายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้แค่ 27,781 คะแนน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 163,823 คน และมาใช้สิทธิ 144,271 คน หรือร้อยละ 88.06 ทำให้ต้องคำนวณคะแนนของแต่ละพรรคและจำนวน ส.ส.พึงมีใหม่
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการให้นางศรีนวลเป็น ส.ส. ขณะที่ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี พรรคพลังประชารัฐ และ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม พ้นจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
คสช. น่าจะไปนานแล้ว
คะแนนเลือกตั้งซ่อมที่เขต 8 จ.เชียงใหม่ ที่ห่างกันถึง 48,038 คะแนน สะท้อนให้เห็นประชาชนจำนวนมากที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” แม้พรรคพลังประชารัฐจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ไม่มีเสถียรภาพ
ที่น่าสนใจคือผลสำรวจ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง “รู้สึกอย่างไรเมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและความสุขของคนในชาติ หลังครบรอบ 5 ปีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 24.50 รู้สึกดีใจ น่าจะไปได้ตั้งนานแล้ว ร้อยละ 23.79 ไม่มีความรู้สึกใดๆ ร้อยละ 13.84 รู้สึกอยากขอบคุณที่ช่วยดูแลประเทศ ร้อยละ 13.29 รู้สึกเสียดาย น่าจะอยู่ต่อไป และร้อยละ 9.55 รู้สึกว่าความวุ่นวายทางการเมืองแบบเก่าๆกำลังจะกลับมา
ปชป. เขี้ยวลากดิน
แม้ 2 ขั้วการเมืองจะมีเสียง ส.ส. ที่ก้ำกึ่งกันมาก แต่พรรคพลังประชารัฐก็มั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะมีเสียง 250 ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พร้อมจะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยและไม่สามารถอ้างความชอบธรรมและความสง่างามได้ จึงต้องพยายามให้ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคต่างๆเกินกึ่งหนึ่ง แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็ตาม เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคขนาดเล็กทั้งหมดสนับสนุน ก็ยังมีเสียงเพียง 254 เสียง
การจัดตั้งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพจึงไม่ง่าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการต่อรองทั้งกระทรวงเกรดเอและให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคได้ประกาศหาเสียง แต่การประชุมของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็ต้องยกเลิก เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถให้คำตอบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่ากลุ่มสามมิตรต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการเช่นกัน
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังทุบโต๊ะขอตรวจรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังติดยึดในอำนาจ ทั้งที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีความชัดเจนจึงไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ที่ไม่สบายใจมากที่สุดคือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกรัฐมนตรีจากพรรคต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการก้าวก่าย ครอบงำ และชี้นำพรรคร่วมรัฐบาล
ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลสะท้อนให้เห็นว่าทุกพรรคต่างต้องการผลประโยชน์ของพรรค ของกลุ่ม จึงมีการต่อรองเพื่อให้ได้กระทรวงสำคัญๆที่จะมีผลประโยชน์ระยะยาวกับพรรค แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคกระจอกที่ยื่นอะไรมาก็งับหมดเหมือนบางพรรค เห็นได้จากการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่บีบให้พรรคพลังประชารัฐต้องยอมสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ท่ามกลางความวุ่นวายและสับสนในการประชุมสภาผู้แทนฯ
พรรคประชาธิปัตย์จึงถูกมองว่า “เขี้ยวลากดิน” ซึ่งหากพรรคพลังประชารัฐไม่รักษาคำพูด บิดพลิ้วข้อตกลง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วย เพราะกระแสการต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ในพรรคก็มีค่อนข้างมาก
ปชป. ไม่ร่วม-ภูมิใจไทยก็ไม่ร่วม
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศร่วมกับพรรคพลังประชารัฐโดยยืนยันว่าทำเพื่อประเทศและไม่เคยโกหกประชาชนนั้น ก็ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ซึ่งจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เหนือความคาดหมาย เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนา ยิ่งนายอนุทินอ้างว่าไม่เคยโกหกประชาชนก็ยิ่งทำให้ตัวเองแย่ในสายตาของประชาชน
โดยเฉพาะแฟนบอลสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บางส่วนแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของนายอนุทิน รวมถึงการเผาเสื้อฟุตบอลสโมสรบุรีรัมย์ก็บอกว่าบางครั้งการเมืองและฟุตบอลเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ขาด
อย่างไรก็ตาม นายอนุทินได้ให้สัมภาษณ์ TNN 16 (28 พฤษภาคม) หลังพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ข้อสรุปว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะกติกาตามรัฐธรรมนูญบอกว่าจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่เงื่อนไขที่ตนตั้งไว้คือ จะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 คนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมากำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งถึงวันนี้ตนก็ยังไม่ได้ทำผิดสัญญา
“หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มาร่วม พรรคภูมิใจไทยก็ร่วมไม่ได้ เพราะก่อนจะไปโหวตนายกรัฐมนตรีก็ต้องแถลงกันก่อน อันนี้ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไข” นายอนุทินยังย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นเสียงข้างมากจึงจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ หากตนไปร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะถือว่าทำผิดคำพูด
“ต่ำกว่า 250 ไปไม่ได้ ผิดหลักการ เรามีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพไม่ได้ ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยแม้แต่ครั้งเดียว รัฐบาลต้องเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ นายกฯคนไหนจะกล้าพาคณะรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างน้อยเข้าไปถวายสัตย์ และสุดท้ายก็ต้องจบด้วยการยุบสภา มันจะมีปัญหาอื่นๆมากมายเต็มไปหมด” นายอนุทินกล่าว
ทวงถามจุดยืนประชาธิปัตย์
ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้หลายคนในพรรคอึดอัดและทวงถามจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชัดเจนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และมีกระแสข่าวว่าอาจจะลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชูป้ายที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผมโดยมีข้อความว่า “ไม่เอาประยุทธ์เป็นนายกฯ” พร้อมกล่าวว่า “ผมเป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่ง และเห็นด้วยกับสมาชิกพรรคจำนวนมากที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพรรคเราเป็นประชาธิปไตย และขณะนี้มติพรรคยังไม่ออกมา ก่อนหน้านายอภิสิทธิ์ก็ได้แสดงจุดยืนมาอย่างชัดเจน พรรคเราเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ”
นายวัชระยังให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งสำคัญขณะนี้คือต้องรักษานายอภิสิทธิ์ไม่ให้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ก็กดดันทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ร่วมรัฐบาลและฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ร่วมรัฐบาล คณะกรรมการบริหารพรรคจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องฟังเหตุผลว่าฟังขึ้นหรือไม่ เพราะไม่ว่าทางใดก็มีคนผิดหวังเป็นธรรมดา เป็นโจทย์ที่ยากมาก จึงวิงวอน ส.ส. และพรรคการเมืองให้ช่วยกันรักษาสภาไว้ อย่าให้ทหารมายึดอำนาจอีก แม้มันพิกลพิการอย่างไรเราก็แก้ไขกันได้
คำตอบสุดท้ายฝ่ายค้านอิสระ
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊คสนับสนุนให้เป็นฝ่ายค้านอิสระคือคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด โดยหยิบยกอุดมการณ์พรรคมาเตือนสติผู้มีอำนาจ และยังอ้างคำปราศรัยของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ที่เคยระบุว่าการให้ ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือกมาเลือกนายกฯเป็นประชาธิปไตยวิปริต การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จึงมีความสำคัญที่จะส่งผลต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคข้อ 4 ที่ระบุว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”
นายเชาว์ยังกล่าวถึงคำสัญญาของนายอภิสิทธิ์ระหว่างหาเสียงว่าพรรคจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ จึงอย่าบิดเบือนว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นเพียงแค่จุดยืนของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น หากอ้างเหตุผลวิปริตเช่นนั้น ต่อไปคำพูดของหัวหน้าพรรคก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือในสังคมอีกเลย
นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังเคยปราศรัยไว้ชัดเจนว่า ประชาชนมีทางเลือก 3 ทางคือ 1.ประชาธิปไตยทุจริตที่นำไปสู่การยึดอำนาจ บ้านเมืองไปไม่รอด 2.ประชาธิปไตยวิปริต เพราะคนไม่กี่คนที่ยึดอำนาจเลือก ส.ว.ได้ 250 คน ไปเลือกนายกฯร่วมกับตัวแทนประชาชนได้ด้วย และ 3.ประชาธิปไตยสุจริตที่ประชาธิปัตย์นำเสนอ
“ผมได้เห็นความเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ของพลังบริสุทธิ์ที่ต้องการแสดงตัวตนในฐานะ 1 ใน 3.9 ล้านคนที่สนับสนุน ปชป. ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้วรู้สึกเต็มตื้นว่า ประชาชนที่ยืนหยัด ไว้ใจ เชื่อถือใน ปชป. ยังมีความมั่นคงและฝากความหวังว่า ปชป. จะยึดมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง รับฟังเสียงจากประชาชนที่ไม่มีผลประโยชน์เฉพาะหน้าใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมมั่นใจว่าเราจะเห็นเหมือนกันว่าฝ่ายค้านอิสระคือคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด” นายเชาว์กล่าว
New Dem ประกาศทิ้งพรรค
ปฏิกิริยาต่อต้านการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเป็นกระแสฮิตในโซเชียลมีเดีย อย่างในทวิตเตอร์ “#ฝ่ายค้านอิสระ” ติด 1 ใน 10 ท็อปเทรนด์ไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำกราฟิคแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เช่น ข้อความว่า “เรามาชิงตัวเจ้าสาว ไปกับเราเถอะนะ” พร้อมแฮชแท็กฝ่ายค้านอิสระ และ “บ้านนี้หวงลูกสาว” เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ New Dem โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ประกาศจะขอทบทวนตัวเองหากพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยโพสต์จดหมายเปิดผนึกย้ำข้อเสนอเมื่อ 2 เดือนก่อนที่เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอิสระ อย่าไปเป็นขนหน้าแข้ง คสช.
นายพริษฐ์เชื่อมั่นว่าการทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศซึ่งตอนนี้อยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่า
1.อย่าบอกว่า “ฝ่ายค้านอิสระไม่มีจริง” เพราะการที่พรรคฝ่ายค้านมีหลายพรรคและไม่ได้เห็นด้วยกันหมดทุกเรื่องเป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภาในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ต้องพึ่งเสียงสนับสนุนจากบางพรรคฝ่ายค้านเป็นกรณีๆไป
2.อย่าผูกขาดกับคำว่า “ทำเพื่อชาติ” เป็นเรื่องปกติที่คนเรามีความคิดเห็นต่างกันว่าอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าถ้าจะทำเพื่อชาติต้องเลือกไปด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
3.อย่ามองว่า “ฝ่ายค้านทำประโยชน์ให้กับชาติไม่ได้” การเป็นฝ่ายค้านอิสระต่อรองนโยบายกับรัฐบาลที่อาจต้องพึ่งเสียงในสภาทุกครั้งที่จะผ่านกฎหมาย จึงยังมีโอกาสต่อรองนโยบายได้ดีกว่าการเข้าร่วมรัฐบาล
4.อย่าให้คุณค่ามากจนเกินไปกับคำว่า “เสถียรภาพ” 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไม่ได้ขาด “เสถียรภาพ” แต่ขาดการ “ตรวจสอบถ่วงดุล” ในระบบรัฐสภาที่เข้มข้น คอยเตือนสติรัฐบาลเวลาทำไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
5.อย่าปล่อยให้สภาเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับ “เผด็จการรัฐสภา” มาโดยตลอด จึงต้องทำให้สภาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและเป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
“ธนัตถ์”ยุติบทบาทหากหนุน“ตู่”
นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หนึ่งในกลุ่มนิวเด็ม พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายนายกิตติ ธนากิจอำนวย มหาเศรษฐีหมื่นล้าน บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Nat Thanakitamnuay ว่า หากพรรคมีมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ “ผมจะต้องขอยุติบทบาททางการเมือง จนกว่าจะมีเหตุผลที่ดีพอที่จะกลับมาอีก”
นายธนัตถ์ยืนยันว่า ตลอดการทำงานทางการเมืองไม่เคยได้อะไร ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ อิทธิพล เส้นสาย ทรัพย์สินเงินทอง มีแต่มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แต่เมื่อการเมืองวันนี้ไม่ตอบโจทย์อุดมการณ์ของตนก็จะไม่ขออยู่ตรงนี้เพื่อขวางทางใครหรือสร้างความขัดแย้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ บ้านของตน โดยยอมรับมติพรรค แต่ขอใช้พื้นที่นี้เรียกร้องให้พิจารณาจุดยืนอีกครั้ง “#ไม่สนับสนุนประยุทธ์และเครือข่าย #ไม่สนับสนุนระบอบทักษิณและเครือข่าย #ฝ่ายค้านอิสระ #ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต”
ประชาชนสั่งสอนเผด็จการ
ความเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ในพรรคประชาธิปัตย์กับชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 จึงไม่แปลกที่กลุ่มอำนาจต่างๆที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจะต้องทำทุกวิธีที่จะไม่ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีบทบาทในสภา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ขณะที่นายธนาธรตกเป็น “ผู้ต้องหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” รวมถึง 7 คดี โดยเป็นคดีอาญา 3 คดี และข้อหาการเมือง 4 คดี
นายธนาธรโพสต์เฟซบุ๊คถึงชัยชนะของนางศรีนวลว่า ไม่ได้เป็นแค่ปรากฏการณ์เฉพาะเขตพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกร่วมของคนทั้งประเทศเมื่อเห็นสถานการณ์การเมืองไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าพรรคใดไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนบ้าง และพรรคไหนเล่นแร่แปรธาตุในสภาผู้แทนฯจนรู้สึก “รับไม่ได้” นี่คือการสั่งสอนของประชาชน
โลกจับตาสืบทอดรัฐประหาร
นายธนาธรยังโพสต์ถึงกรณีกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights : APHR) ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทยหยุดคุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่า ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจับตา “การสืบทอดระบอบรัฐประหาร” การใช้กฎหมายไม่ให้นายธนาธรได้ทำหน้าที่ผู้แทนฯในสภา รวมถึงการตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นหรือความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น ไม่ได้เป็นแค่เรื่องส่วนตัวของตนและอนาคตของพรรค แต่เกี่ยวพันถึงอนาคตของประเทศโดยตรง
ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมองว่า รัฐบาล คสช. ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะคืนประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับว่าเสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล
อย่าชักศึกเข้าบ้าน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ โดยย้อนถามว่าวันนี้ตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับใคร เพราะถ้าทุกคนทำตามกฎหมายก็คงไม่มีปัญหา เชื่อว่าเรื่องนี้มีกระบวนการสร้างความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในเวทีต่างประเทศเพื่อใช้เป็นโล่ป้องกันตัวเอง ถ้าทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบก็จะไม่มีปัญหา เพราะกระบวนการยุติธรรมได้ให้โอกาสต่อสู้คดีอยู่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า รัฐบาลและ คสช. ไม่เคยได้เข้าไปก้าวก่าย อีกทั้งยังยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ไม่จำเป็นไปหมดแล้ว จึงอยากขอร้องให้พอได้แล้ว อย่าดึงต่างชาติมาเป็นเครื่องมือแทรกแซงกิจการภายในประเทศเลย เพราะเป็นเหมือนกับชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งไม่มีอะไรดีขึ้น และต่างชาติจะมากดดันไม่ได้ เพราะกฎหมายไทยเป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่เคารพกฎหมายไทยแล้วจะให้ไปเคารพกฎหมายใคร
มาตรฐานของผู้มีอำนาจ
นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ลูกชายนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Fuadi Pitsuwan (23 พฤษภาคม) คดีนายธนาธรว่า มีใครที่ไม่ได้เลือกธนาธรแต่รู้สึกอึดอัดกับการกระทำสองมาตรฐานของผู้มีอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยบ้าง? ขอเสียงหน่อย เพราะรู้สึกเดียวดายมาก
ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองคือ “คู่แข่ง” ไม่ใช่ “ศัตรู” เราควรและมีหน้าที่ทางจริยธรรมการเมืองที่จะ #StandWithThanathorn อาจจะไม่ใช่ในฐานะตัวบุคคล แต่ในฐานะมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องและเรียกร้องการคงอยู่ของการเมืองพลเรือน ถ้าคุณไม่พูดหรือไม่พยายามทำอะไรตอนนี้ วันหนึ่งระบอบยุติธรรมแบบนี้อาจจะย้อนกลับมากัดคุณเองก็ได้
นายฟูอาดี้ยังเตือนว่า ผู้มีอำนาจกำลัง disenfranchise คนอย่างน้อย 6 ล้านคน ซึ่งอันตรายมากกับโอกาสของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น พวกเราทุกคนต้องช่วยกันลดความเสี่ยงนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม
เลือกตั้งพิสดาร?
การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วน และสูตรพิสดารคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ “องค์กรเลือกตั้ง” ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกประณามสารพัด อาทิ นายอดิศร เพียงเกษ ระบุว่า “เฮงซวย” ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง และถามว่าการเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่ใช้สูตรอะไรคิด พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนน 75,000 กว่าคะแนน ชนะขาดลอย แต่ได้เป็น ส.ส. 1 คน ส่วนอีก 2 พรรคได้ ส.ส. เพิ่ม 2 คน ทั้งที่แพ้ไม่เป็นท่า ใครเป็นคนออกกฎพิสดารนี้มา เป็นการเอาเปรียบกันอย่างเห็นได้ชัดและดูถูกประชาชนที่ใช้สิทธิ
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่าการเลือกตั้ง “กติกามันบิดเบี้ยว” ตามกติกาที่โจรเขียน ทำให้ผลการเลือกตั้งบิดเบี้ยวเข้าข้างโจร พรรคเพื่อไทยโดนใบแดง ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยหายไป 1 คน การเลือกตั้งซ่อมฝ่ายสืบทอดอำนาจแพ้ยับเยิน พรรคอนาคตใหม่ชนะขาด ฝ่ายประชาธิปไตยได้ ส.ส.เขตคืนมา 1 คน แต่ฝ่ายสืบทอดอำนาจกลับได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น 2 คน ”#ชนะเยอะกลับยิ่งแพ้ เราต้องอยู่กับ #กติกาบิดเบี้ยวแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนคะ?”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Jessada Denduangboripant ว่า เห็นด้วยกับคุณหญิงหน่อยที่ว่าการเลือกตั้ง “กติกามันบิดเบี้ยว” แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เป็นแกนนำต่อต้านตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็ง และยังลงเลือกตั้งตามกติกาที่โจรเขียนด้วย สุดท้ายเลยได้ผลลัพธ์ที่บิดเบี้ยวเข้าข้างโจรแบบนี้
ปลุกทุกพรรคร่วมแก้รัฐธรรมนูญ
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุว่า วันนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายคงได้ประจักษ์ถึงความบิดเบี้ยวที่พิสดารของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นผลงานของ คสช. และพวกที่ออกแบบมาเพื่อหวังการสืบทอดอำนาจ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ได้เห็นลีลาทางการเมืองของพรรคฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจซึ่งมีพลังประชารัฐเป็นแกนนำพยายามจะจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งยังจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว และดูเหมือนว่าการเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นหนทางที่จะร่วมมือกันดูจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ หากจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ เนื่องจากเสียงในสภาที่สนับสนุนนั้นอยู่ในสภาพ “ปริ่มน้ำ” แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น วันนี้มีข่าวว่าหากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จอย่างที่ผู้มีอำนาจตั้งความหวังไว้ถึงขั้นมีการกล่าวอ้างว่าอาจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วจะยุบสภา สภาพดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า “การต่อรองทางการเมืองนับวันจะเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้นลงง่ายๆ”
ปัญหาของประเทศและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจะยิ่งได้รับการเหลียวแลลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะยิ่งยากลำบากในการแสวงหาหนทางในการคลี่คลายปัญหา การเมืองภายใต้กลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมนี้ทำให้ปัญหาของประเทศและประชาชนที่เดือดร้อนที่กำลังต้องการการแก้ไขกลับต้องสะดุดเพราะความพยายามของพลังประชารัฐที่จะให้อดีตนายกฯทำหน้าที่ต่อ
“ประชาชนอยู่ตรงไหน” ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์ของกันและกัน หากดูผลการเลือกตั้งล่าสุดที่เชียงใหม่ เขต 8 ซึ่งพรรคฟากฝั่งประชาธิปไตยได้คะแนนอย่างท่วมท้น ถือเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการหลุดพ้นจากการบริหารแบบเดิมๆของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ
การคำนวณคะแนนสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นรูปธรรมที่ชี้ชัดว่า “ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎกติกาพิสดารทั้งหลายที่สร้างความสับสนให้ประเทศ”
นายภูมิธรรมเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและได้รับผลกระทบจากกติกาของผู้มีอำนาจร่วมผนึกกำลังกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับประชาชน วันนี้ยังไม่สายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พิสดารและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ประชาชนรอพิสูจน์คำสัญญาที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยประกาศไว้ อย่าให้ประชาชนผิดหวัง
เมื่อเข้าฤดูผสม!!??
ภาพการยกขบวนของพรรคพลังประชารัฐเพื่อเชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่การประชุมพรรคประชาธิปัตย์นัดแรกเพื่อจะร่วมรัฐบาลหรือไม่กลับล้มไม่เป็นท่า ไม่ว่าจะเป็นเพราะเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ลงตัว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่ว่าเลือกทางไหนก็เกิดปัญหาความแตกแยกในพรรค เพราะความผิดพลาดที่ยอมให้อดีตกลุ่ม กปปส. กลับเข้าพรรค
พรรคพลังประชารัฐจึงดัดหลังพรรคประชาธิปัตย์ โดยดึงการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลไปหลังจากโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์บีบพรรคพลังประชารัฐให้โหวตเลือกนายชวนเป็นประธานสภาผู้แทนฯ การเจรจาต่อรองร่วมรัฐบาลจึงเหมือน “ละครน้ำเน่า” ที่เป็นการต่อรองผลประโยชน์ของพรรค ไม่ใช่เพื่อประเทศและประชาชน
แม้ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะต่อสู้ตามกติกาที่บิดเบี้ยว โดยอาจเสนอชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับนายธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีเพียง 2 พรรคที่มี ส.ส. เกิน 25 เสียง แม้รู้ดีว่าภายใต้กติกาที่บิดเบี้ยว พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอนไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะ 250 ส.ว. ที่ตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ เกือบทั้งหมดก็มาจากพวกพ้องน้องพี่ที่เคยรับใช้ คสช.
กติกาการเลือกตั้งที่อัปลักษณ์ สูตรพิสดารในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการพยายามใช้กลไกอำนาจต่างๆเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม จึงสะท้อนถึงความอัปลักษณ์และอัปยศของการเมืองไทยมากที่สุดยุคหนึ่ง
การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ “การสืบทอดอำนาจ” ที่วางไว้เพื่อ “ฟอกขาว” ให้ “ระบอบเผด็จการ” แต่ก็ทำให้ประชาชนตาสว่าง โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่ต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” และไม่เอา “ลุงตู่”
การเมืองแบบ “ประเทศกูมี” จึงต้องดูกันยาวๆและลึกๆ เพราะเต็มไปด้วยละครน้ำเน่าของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ตระบัดสัตย์โดยไม่ละอาย โดยเฉพาะฤดูผสมที่เสี้ยนกันมากก็ต้องโก่งราคากันให้สุดๆ!!??
You must be logged in to post a comment Login