วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Animal Farm

On May 31, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 31 พ.ค. 62)

“ทั่นผู้นำ” แนะนำหนังสือ “Animal Farm” ให้ประชาชนอ่าน กลายเป็นประเด็นทางการเมืองทันที เพราะ “Animal Farm” เป็นนวนิยายเสียดสีการเมืองที่เขียนโดย “จอร์จ ออร์เวลล์” เมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2488 เสียดสีการปฏิวัติรัสเซียและการครองอำนาจของระบอบเผด็จการ “โจเซฟ สตาลิน” ที่ปกครองอย่างโหดร้าย โดยใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่อง

นิตยสารไทม์ยกย่องให้ “Animal Farm” เป็นหนึ่งในนวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด 100 เรื่องระหว่างปี พ.ศ. 2466-2548 และอยู่ในอันดับที่ 31 นวนิยายที่ดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของสำนักพิมพ์มอเดิร์นไลบรารี มีการแปลเป็นภาษาไทยกว่า 10 ครั้ง ครั้งแรกแปลโดย “ม.ล.นิภา ภานุมาส” เมื่อ พ.ศ. 2502 ในชื่อ “ฟาร์มเดรัจฉาน”

สัตว์ใน “Animal Farm” คือตัวแทนของประชาชนในรัสเซีย ซึ่งตอนจบให้ข้อคิดไว้ว่า การปกครองแบบเผด็จการไม่มีวันยั่งยืน บรรดาสัตว์ต่างๆจึงลุกขึ้นมาปฏิวัติ

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้ทวีตข้อความหนังสือที่ “ทั่นผู้นำ” แนะนำให้คนไทยอ่านว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมกว่าตัวอื่นๆ นี่คือวาทะของหมูใน Animal Farm..มาช่วยกันครับ สร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน” โดยไม่ต้องมีใคร “เท่าเทียมกว่า” ใคร ผมและ #อนาคตใหม่ จะยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ให้ได้ #หมดเวลาหมูครองเมือง”

“เกศปรียา แก้วแสนเมือง” โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงหนังสือ “Animal Farm” ว่าต้องการสะท้อนว่า “เผด็จการเป็นสิ่งไม่ดี” ทุกคนในสังคมต้องเสมอภาค อ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้พบความจริงว่าคนที่อยาก “สืบทอดอำนาจรัฐประหาร” จะมีอาการของ “โรคหลงตัวเอง” และดูถูกคนอื่นอย่างมาก คิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งที่สุดในโลก จึงไม่ยอมรับความสามารถของคนอื่น ทำอะไรไร้จิตสำนึก และไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วได้

คิดว่าตนเองคือ “จักรวาลที่สมบูรณ์” ทั้งที่เป็น “ศูนย์กลางของปัญหา”!!??


You must be logged in to post a comment Login