- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
‘ลากตั้ง’อีกนาน
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 7 มิ.ย.62)
ความเป็นปึกแผ่นของ ส.ว. ที่แสดงให้เห็นจากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนว่าการเมืองจะดำรงอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่าทศวรรษ ไม่ว่ารัฐบาล “ลุงตู่” จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ตราบใดที่ ส.ว. ชุดปัจจุบันยังไม่หมดวาระการทำหน้าที่ หรือต่อให้ ส.ว. ชุดนี้พ้นจากสภาไปแล้ว แต่ด้วยกติกาที่วางไว้อย่างรัดกุม ทุกอย่างจะเดินไปอย่างที่เห็น ยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้
ผลการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา หากจะมีอะไรผิดไปจากความคาดหมายบ้างเห็นจะเป็นเรื่องที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงคะแนนให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองทั้ง 249 คนที่เข้าร่วมประชุม
ไม่มีงดออกเสียง ไม่มีลงคะแนนให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แม้แต่คะแนนเดียว
แสดงให้เห็นความเป็นปึกแผ่นที่แน่นหนาของ ส.ว. ชุดนี้
เมื่อ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา แม้เวลาพิจารณากฎหมายหรือญัตติจะแยกวงประชุมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว.
แต่อำนาจหลักๆของ ส.ว. ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้มองเห็นอนาคตประเทศไทยได้ว่าจะเป็นไปอย่างนี้อีกอย่างน้อยเกือบทศวรรษหรือ 10 ปี
ต่อให้รัฐบาลมีเสียง ส.ส. ปริ่มน้ำจนถูกมองว่าพร้อมที่จะล้มได้ทุกเมื่อ ซึ่งก็เป็นความจริงที่รัฐบาล “ลุงตู่” อาจล้มได้ทุกเมื่อ แต่ความจริงยิ่งกว่าคือ ล้มได้ก็ตั้งขึ้นมาใหม่ได้ เพราะมี ส.ว. 250 เสียง พร้อมที่จะดึงมือให้ลุกขึ้นมาบริหารประเทศได้อีกทุกกรณี
ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีเลือกตั้งใหม่หรือไม่มีเลือกตั้งใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีเลือกตั้งใหม่ ความเป็นปึกแผ่นของ ส.ว. ที่แสดงพลังออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่าภายในกรอบเวลา 5 ปีที่ ส.ว. มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ว่าจะโหวตเลือกนายกฯกันกี่ครั้งก็ไม่มีทางได้คนอื่นจากฝ่ายอื่นขึ้นมาเป็นนายกฯหากไม่มีสัญญาณให้เปลี่ยนการลงคะแนน
เลือกตั้งใหม่แม้พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรจะได้ ส.ส. น้อยลง แต่ก็มี 250 เสียงตุนอยู่ในมือ โหวตเลือกนายกฯเมื่อไรก็ชนะ
ที่สำคัญในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลยที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรทางการเมืองจะชนะเลือกตั้งด้วยจำนวนเสียง ส.ส. มากเกินกว่า 375 เสียง ซึ่งคือเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนคะแนนที่ใช้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา
ด้วยกติกาปัจจุบันพรรคเพื่อไทยไม่มีทางที่จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่าที่เป็นอยู่ เต็มที่ได้เพิ่มอีกไม่เกิน 20 เสียง เพราะยิ่งชนะเลือกตั้งในระบบเขตมากยิ่งไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ถูกมองว่าเสียความนิยมจากการสนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะได้ ส.ส. ลดลงไปบ้าง แต่ไม่ได้ลดลงไปมากจนมีนัยสำคัญทำให้อำนาจเปลี่ยนมือได้ เพราะจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเพิ่มมาทดแทนกรณี ส.ส.เขตสอบตก
ด้วยมาตรฐานการคิดคะแนนแบ่งโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วางเอาไว้ จะมีพรรคที่ได้ ส.ส. 2-3 คนเกิดขึ้นจำนวนมาก และพรรคเหล่านี้ก็จะเป็นกองหนุนชั้นดีให้ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ
ตราบใดที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 126 เสียง อำนาจก็ไม่มีวันเปลี่ยนมือ
ยิ่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่บางพรรคการเมืองใช้เป็นข้ออ้างเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หากฝ่ายคุมอำนาจปัจจุบันไม่เปิดไฟเขียวให้ไม่มีโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้เลย เพราะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเหมือนเลือกนายกฯคือ 375 เสียง
แถมเพิ่มเงื่อนไขให้ยากขึ้นไปอีกขั้นด้วยการกำหนดว่า ใน 375 เสียงต้องเป็นเสียง ส.ว. ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนนั่นเอง เมื่อดูจากการโหวตเลือกนายกฯแล้วการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ถ้าฝ่ายคุมอำนาจไม่เปิดไฟเขียวให้
เมื่อต้องอยู่กับกติกาอย่างนี้ต่อไป ต่อให้พ้นกรอบเวลาที่ ส.ว. มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯแล้ว แต่กติกายังคงเดิม การเมืองก็จะเป็นแบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี
ต่อให้ ส.ว. ชุดปัจจุบันหมดวาระแล้วได้ ส.ว. ชุดใหม่ที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้สมัครที่เป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพต่างๆทั่วประเทศ การแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ง่ายอยู่ดี
You must be logged in to post a comment Login