วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อาหารบูดแกล้มเหล้า

On June 7, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 7-14 มิถุนายน 2562 )

ปลายศตวรรษที่ 19 นักดื่มชาวเมืองนิวยอร์กมีกิจกรรมประหลาดในการสังสรรค์ด้วยการสั่งสุราและอาหารในเวลาเดียวกัน แต่ที่แปลกก็คือทุกครั้งที่บริกรนำอาหารมาให้ล้วนเป็นอาหารบูดเน่าค้างคืนนานนับสัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อกฎหมาย

วันที่ 23 มีนาคม 1896 จอห์น เรนส์ รองผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เสนอร่างกฎหมายควบคุมการดื่มสุราโดยสั่งห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ ยกเว้นการให้บริการแขกที่พักในโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 10 ห้องขึ้นไป แต่ต้องเสิร์ฟพร้อมอาหาร หรือแขกต้องสั่งสุราไปดื่มในห้องพักเท่านั้น

แนวความคิดที่จะควบคุมการดื่มสุรามีมาก่อนนี้นานหลายปีโดยการผลักดันของนักการเมืองพรรครีพับลิกัน กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากทีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนิวยอร์ก เขากล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดจากพวกขี้เมาในเมืองนิวยอร์กได้

ช่วงเวลานั้นเมืองนิวยอร์กมีร้านจำหน่ายสุราราว 8,000 แห่ง เป็นแหล่งมั่วสุมของคนไร้บ้าน กรรมกรตกงาน โจรลักขโมย และโสเภณีข้างถนน ทีโอดอร์คาดหมายว่ากฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์จะทำให้บุคคลที่เป็นปัญหากับสังคมเหล่านี้ลดจำนวนลงได้

นอกจากนี้แล้วกฎหมายใหม่ยังขึ้นราคาใบอนุญาตจำหน่ายสุราจากเดิม 3 เท่าตัวเป็น 800 ดอลลาร์ต่อปี ห้ามตั้งร้านจำหน่ายสุราในรัศมี 200 ฟุตห่างจากโรงเรียนและโบสถ์ กำหนดอายุผู้ซื้อสุราจากเดิม 16 ปีเป็น 18 ปี และห้ามทำแคมเปญโปรโมชั่นที่ร้านสุราในยุคสมัยนั้นนิยมทำมากที่สุดคือ “ห้ามแถมอาหารกลางวันฟรี”

ยังไม่หมดแค่นั้น กฎหมายฉบับนี้ยังห้ามทำโปรโมชั่น “นาทีทอง” ซึ่งร้านจำหน่ายสุราจะจำหน่ายสุราราคาพิเศษช่วงคืนวันเสาร์จนถึงเที่ยงคืนก่อนที่จะย่างเข้าวันอาทิตย์ที่เป็นวันห้ามจำหน่ายสุรา อีกทั้งห้ามร้านจำหน่ายสุราปิดม่านประตูและหน้าต่างในวันอาทิตย์ เพื่อให้ตำรวจสายตรวจสามารถมองผ่านเข้าไปในร้านได้ว่ามีการละเมิดกฎหมายจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์หรือไม่

คอแห้งผาก

กฎหมายควบคุมการดื่มสุราเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1896 สัปดาห์แรกที่ประกาศใช้กฎหมาย ร้านจำหน่ายสุราปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงคืนวันเสาร์ พอถึงวันอาทิตย์ถนนหนทางก็ปลอดโปร่งโล่งจากบรรดาขี้เมาอย่างที่เคยเป็น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิร์ลพาดหัวข่าว “กฎหมายของเรนส์ทำให้คนกระหาย”

แต่อย่างที่รู้กันว่าเมืองนิวยอร์กเป็นเหมือนหม้อตุ๋นใบใหญ่ที่มีคนเกือบทุกเชื้อชาติในโลกมารวมกันอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะชาวเยอรมันและไอริชที่นิยมดื่มเบียร์และสุราแทนน้ำ พวกเขารู้สึกไม่ปลื้มกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการดื่มสุรา

บางคนอาจคิดว่าอะไรกันนักหนากับแค่ห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ ยังมีวันอื่นๆในสัปดาห์อีกตั้ง 6 วัน เสพกันไม่พอหรือไง ในความเป็นจริงคือชนชั้นแรงงานในสมัยนั้นทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน จันทร์ถึงเสาร์ ได้หยุดแค่วันอาทิตย์เพียงวันเดียว พฤติกรรมการดื่มสุราของพวกเขาไม่ใช่แบบที่คนทั่วไปเข้าใจคือ ดื่มกันหอมปากหอมคอในตอนค่ำๆ แต่พวกเขาดื่มกันตั้งแต่เช้าในวันหยุด ดังจะเห็นจากโปรโมชั่นส่งเสริมการจำหน่ายสุราที่นิยมทำด้วยการแจกอาหารกลางวันฟรี

ขณะเดียวกันผู้ดีมีเงินสามารถซื้อหาสุราได้ทุกวัน เพราะพวกเขามีเงินเปิดห้องพักในโรงแรม อันเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายฉบับนี้ที่โรงแรมสามารถจำหน่ายสุราให้กับแขกที่มาพักได้ ซึ่งช่องโหว่ของกฎหมายข้อนี้ในเวลาต่อมากลับมาย้อนศรทำให้เมืองนิวยอร์กเสื่อมโทรมลงยิ่งกว่าตอนที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการดื่มสุรา

เข้าข่ายได้รับยกเว้น

เงื่อนไขการอนุญาตให้สถานที่ใดจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ได้มีไม่มาก แค่เป็นโรงแรมมีห้องพักไม่น้อยกว่า 10 ห้อง สามารถจำหน่ายสุราพร้อมอาหารหรือจำหน่ายสุราส่งให้แขกในห้องพัก บรรดาร้านจำหน่ายสุราก็ใช้ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา หรือเช่าอาคารหลังติดกัน ตกแต่งเป็นห้องพักขนาดเล็กที่มีเพียงเตียงนอนให้ได้ครบ 10 ห้อง เพียงเท่านี้ก็ขอใบอนุญาตเปิดเป็นโรงแรมได้แล้ว

ห้องอาหารยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะร้านสุราส่วนใหญ่จะมีโต๊ะบิลเลียดไว้บริการลูกค้า แค่เอาผ้ามาคลุมก็เปลี่ยนเป็นโต๊ะอาหารได้แล้ว ส่วนอาหารบริการลูกค้าแค่มีไว้เป็นไม้กันหมา ง่ายที่สุดก็เอาขนมปังมาประกบกันวางเศษเนื้อไว้ตรงกลางแค่นี้ก็กลายเป็นแซนด์วิช

แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มากินอาหาร พวกเขาต้องการเพียงดื่มสุรา ดังนั้น อาหารที่นำมาเสิร์ฟจึงเป็นแค่เครื่องประดับ หลังจากลูกค้าจากไปมันยังคงถูกวางทิ้งไว้บนโต๊ะเหมือนเดิม ทางร้านก็นำกลับไปเก็บ เวียนเทียนเสิร์ฟให้กับลูกค้ารายต่อไป และแซนด์วิชชิ้นเดิมอาจถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ตำรวจพยายามจับกุมเจ้าของร้านจำหน่ายสุราหัวหมอเหล่านี้ แต่ศาลตัดสินว่าแซนด์วิชถือเป็นอาหารหลัก และร้านจำหน่ายสุราเหล่านั้นมีห้องพัก 10 ห้องขึ้นไปจึงเข้าข่ายได้รับการยกเว้น สามารถจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ได้

โรงแรมเรนส์

กฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ร่างขึ้นโดยจอห์น เรนส์ จึงนิยมเรียกกันสั้นๆว่ากฎหมายเรนส์ ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสุราที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแปรสภาพร้านสุราเป็นโรงแรมก็ถูกเรียกว่า “โรงแรมเรนส์”

เดิมทีเมืองนิวยอร์กมีโรงแรม 13 แห่ง หลังจากกฎหมายควบคุมการดื่มสุราบังคับใช้ได้ 6 เดือน ก็เกิดโรงแรมเรนส์ในกรุงนิวยอร์ก 800 แห่ง และเมื่อครบ 1 ปีก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 แห่ง เมื่อมีห้องพักราคาถูกอยู่เกลื่อนเมืองก็เป็นผลดีต่ออาชีพของหญิงขายบริการ ทำให้สะดวกต่อการขายบริการทางเพศ ยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ปี 1902 รัฐบาลแก้ไขกฎหมายควบคุมการดื่มสุราโดยเพิ่มข้อกำหนดของอาหารที่ใช้เสิร์ฟลูกค้า โรงแรมต่างๆจึงต้องจัดเตรียมอาหารที่มีคุณภาพ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทั้งๆที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้กินอาหารเหล่านั้น แต่เจ้าของโรงแรมก็ไปบวกราคาสุราสูงขึ้น 50-100 เปอร์เซ็นต์แทน

ราคาสุราวันอาทิตย์ที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้จำนวนผู้บริโภคลดลงแต่อย่างใด ทำให้ในปี 1917 มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งเพิ่มขั้นต่ำจำนวนห้องพักของโรงแรมที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมการดื่มสุราฉบับนี้ไปโดนใจสมาชิกองค์กรต่อต้านการเสพน้ำเมาที่สถาปนาขึ้นมาในปี 1895 พวกเขาใช้เวลาหลายปีล็อบบี้ให้ออกกฎหมายห้ามการจำหน่ายสุราอย่างถาวร จนกระทั่งเป็นความจริงในปี 1919 อเมริกาออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราหรือที่รู้จักกันในชื่อ Dry Law ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดแก๊งอิทธิพลลักลอบต้มเหล้าเถื่อนนำอเมริกาเข้าสู่ยุค “อันธพาลครองเมือง”

1

1.จอห์น เรนส์ ออกร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์

2

2.ร้านสุราแจกอาหารกลางวันฟรีให้ลูกค้า

3

3.ทีโอดอร์ รูสเวลต์

4

4.บรรยากาศร้านจำหน่ายสุราในศตวรรษที่ 19

5

5.แผนที่แสดงที่ตั้งโรงแรมเรนส์ (R) ปี 1899

6

6.สมาชิกองค์กรต่อต้านการเสพน้ำเมาเรียกร้องให้ออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรา

7

7.อเมริกาออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในปี 1919

8

8.ร้านจำหน่ายสุราประกาศปิดกิจการ

9

9.ร้านจำหน่ายสุราเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยทำเป็นโรงแรมเรนส์


You must be logged in to post a comment Login