วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบกว่า 3 เดือน

On June 7, 2019

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าสอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติระหว่างสัปดาห์ สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่กล่าวถึง การดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นกระแสการคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้ นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ที่อ่อนแอก็เป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (7 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจในประเทศน่าจะอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ประเทศคู่ค้า และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น)

ส่วนดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 1,658.93 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,653.50 จุด เพิ่มขึ้น 2.05% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,503.57 ล้านบาท ลดลง 37.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 2.07% มาปิดที่ 346.84 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยได้รับปัจจัยบวกจากทิศทางการเมืองภายในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับมีแรงหนุนจากการที่ตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สาม อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงผลการเจรจาในประเด็นการค้าและผู้อพยพกับเม็กซิโก

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,635 และ 1,610 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค.ของญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค.ของจีน


You must be logged in to post a comment Login