วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

พปชร.ยื่นศาลรธน.จำหน่ายคดีหุ้นสื่อขอโอกาสแจงเหมือน”ธนาธร”

On June 20, 2019

ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาจำหน่ายคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ขอให้วินิจฉัยว่า ส.ส. ทั้ง 27 คนของพรรคพลังประชารัฐขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นสื่อ และขอให้ศาลไต่สวนว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอและมีมูลที่จะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ หากศาลสั่งรับให้ไต่สวนควรที่ศาลจะสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพื่อให้โอกาส ส.ส. ผู้ถูกร้องแสดงพยานหลักฐาน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้นนายทศพลให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบสำนวนดังกล่าวพบว่าที่ 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ยื่นเรื่องนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (5) และมาตรา 41 ว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติหรือเรื่องความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลง ต้องทำเป็นคำร้อง จึงเห็นว่าเมื่อการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกก็สมควรว่าศาลรัฐธรรมนูญจะจำหน่ายคดีดังกล่าว แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ก็ขอให้มีการไต่สวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ เพราะเรื่องนี้เป็นการยื่นมาโดยไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมพยานหลักฐาน มีเพียงเอกสาร ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนกัน และทั้ง 27 คนไม่ได้มีโอกาสชี้แจง แต่อยู่ๆก็มีคนเอาเอกสารมาแล้วบอกว่าผิด ถือว่าต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกร้องโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งผ่านการชี้แจง การโต้แย้ง มีการหอบเอกสารมาเป็นลัง แต่ประชาชนไม่เข้าใจ คิดว่าเหมือนกัน จริงๆแล้วไม่เหมือนกัน เพราะกรณีของ 27 ส.ส. ไม่ได้ผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และไม่มีการชี้แจงเลย เราต้องการเพียงโอกาสในการชี้แจง เราขอโอกาสพิจารณาคดีเหมือนของ นายธนาธรเท่านั้นเอง และถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณาก็ให้ไต่สวนอีกครั้งเพื่อให้พิจารณาพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องก่อนจึงจะมีการไต่สวน นายทศพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจจะไม่มีคนขอ และที่ผ่านมาใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด แต่ในครั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่เพิ่งออกมาใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัดว่าอะไรที่ยื่นเป็นคำร้อง และอะไรยื่นเป็นหนังสือ ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าการยื่นคำร้องผิดแล้วมีการพิจารณาไป คำวินิจฉัยก็จะผิด ดังนั้น ในเมื่อกระบวนการผิดก็ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย

เมื่อถามอีกว่าการยื่นคำร้องของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะส่งผลต่อ 41 ส.ส. ที่ถูกร้องพร้อมกันหรือไม่ นายทศพลกล่าวว่า หากเป็นเรื่องข้อกฎหมายคงมีผลเหมือนกัน แต่หากเป็นเรื่องข้อเท็จจริงจะมีผลเฉพาะตัวกับ 27 ส.ส. เท่านั้น ไม่ได้มีผลไปเอื้อให้กับ ส.ส. รายอื่นที่ถูกร้อง เพราะถ้าไม่ได้ยื่นคำขอไต่สวนหรือคุ้มครองศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ให้ เว้นแต่ในประเด็นข้อกฎหมายถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าผิดก็จะผิดไปทั้งหมด


You must be logged in to post a comment Login