วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“กรณ์”ชี้เรายังยาจนเกินไปที่รัฐจะดูแลรายได้ขั้นต่ำทุกคน

On June 22, 2019

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “หลักคิดว่าประชาชนทุกคนควรมีสิทธิมีรายได้ขั้นต่ำที่รัฐต้องดูแล” โดยระบุว่า

เมื่อวานผมได้พบกับผู้บริหาร Unilever ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งในโลก เขาบอกว่าโดยเฉลี่ยคนไทยทุกคนใช้สินค้าของเขาคนละสองครั้งต่อวัน ทุกวัน (ผมใช้สบู่ Dove และกินไอศกรีม Walls)

ในงานเดียวกัน ผมได้พบกับโชห่วยและร้านค้าท้องถิ่นจากทั่วประเทศ และเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการค้าการขาย

ได้มีการพูดถึงผลของการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี มีการประมาณการว่า ทุกครั้งที่มีการเปิดร้านสะดวกซื้อ 1 ร้าน ตามสถิติจะมีร้านขายของชำต้องปิดกิจการมากถึง 7 ร้าน (จริงแค่ไหนผมไม่สามารถยืนยันได้)

และเราได้คุยกันถึงนโยบายบัตรสวัสดิการของรัฐ

บัตรสวัสดิการของรัฐ (บัตรคนจน) เป็นที่นิยมโดยชาวบ้านทั่วประเทศอย่างมาก นโยบายนี้ใช้เงินภาษีช่วยผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคนด้วยเงินงบประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท โดยที่ต้องใช้บัตรเพื่อซื้อของตามร้านธงฟ้าเท่านั้น

ผู้ได้ประโยชน์คือ

1. โชห่วยที่เข้าโครงการธงฟ้า 60,000 ร้าน
2. ผู้ผลิตสินค้า 15 รายที่ได้รับเลือกเข้าโครงการ (เช่นสหพัฒน์ ทิปโก้ Unilever)
3. ประชาชนผู้ยากจน 14 ล้านคน

ประชาธิปัตย์ได้หาเสียงไว้ว่า

1. เราจะเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรเป็น 800 บาทต่อเดือน
2. เราจะให้สิทธิผู้ถือบัตรสามารถถอนเป็นเงินสดเพิ่อใช้ที่ใดก็ได้

ตามแนวความคิดของประชาธิปัตย์น่าจะส่งผลตามนี้

1. ผู้ถือบัตรคล่องตัวขึ้น ไม่ถูกบังคับให้ต้องซื้อเพียงสินค้าที่ถูกกำหนดมา
2. พ่อค้า แม่ค้าทั่วไปที่ไม่ได้เป็นร้านธงฟ้าจะได้ประโยชน์
3. เศรษฐกิจชุมชนจะดีขึ้นจากเงินหมุนเวียน
4. ยอดขายร้านธงฟ้าจะตก ส่งผลให้ร้านโชห่วยแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อยากขึ้น
5. ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ 15 รายจะมียอดขายลดลง
6. การใช้เงินโดยผู้ถือบัตรจะอยู่นอกระบบภาษีมากขึ้น

ส่วนคำถามว่าโครงการนี้เข้าข่าย “ประชานิยม” หรือไม่ ผมว่าใช่แน่นอน และจะเลิกยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่า…ต้องยอมรับว่าเป็นการเสริมรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีประสิทธิภาพพอสมควร ไม่รั่วไหลเพราะยิงตรง และไม่มีการทุจริตเมื่อเทียบกับโครงการที่ต้องผ่านขั้นตอนราชการ

ที่เมืองนอกเขามีแนวคิดเรื่อง “Universal Basic Income” (UBI) – คือหลักคิดว่าประชาชนทุกคนมีควรมีสิทธิมีนายได้ขั้นตํ่าที่รัฐต้องดูแล

ไทยเรายังยากจนเกินไปที่จะก้าวสู่ UBI อย่างเต็มรูปแบบ (และส่วนตัวผมยังเชื่อว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน ไม่ใช่รอรับเงินอย่างเดียว) แต่เราดูแลผู้มีรายได้น้อยได้ด้วยบัตรสวัสดิการ และการประกันรายได้เกษตรกร

แต่จะทำอย่างไรให้ยุติธรรมที่สุดกับทุกฝ่ายคือความท้าทาย


You must be logged in to post a comment Login