วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กต.ชี้การส่งตัวผู้ลี้ภัยยะไข่ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม

On June 22, 2019

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์สื่อมวลชน โรงแรม แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยด์ ถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อช่วงเช้า ว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยรัฐยะไข่ เรื่องเอกสารเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งในการหารือ ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ และเอกสารจะนำเสนอต่อผู้นำอาเซียนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาคและการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ข้อกังวลต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวกับความท้าทายรูปแบบใหม่ การรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ว่าในยุคดิจิทัล อาเซียนจะก้าวไปในทิศทางไหน ซึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ การบริหารจัดการชายแดน

น.ส.บุษฎี กล่าวอีกว่า ขณะที่ในเรื่องเศรษฐกิจ มีการพูดคุยเรื่องความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ARCEP ซึ่งคาดหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีในปลายปีนี้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญ นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ความท้าทายสภาวะทางการเมืองเศรษฐกิจโลก

น.ส.บุษฎี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีเอกสารที่ผู้นำจะให้การรับรอง 17 ฉบับ อาทิ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน เอกสารฉบับนี้จะมองเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงการรับรองร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล โดยเน้นการส่งเริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน กรอบนโยบายเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อเสนอของอาเซียนในแนวคิดการสร้างเสริมในอินโด-แปซิฟิก และเอกสารแถลงการณ์ว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยวัฒนธรรม

ส่วนกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ น.ส.บุษฎี กล่าวว่า จะการรายงานให้ผู้นำอาเซียนได้รับทราบว่าสำนักเลขาธิการอาเซียนและทีมผู้เชี่ยวชาญได้เดินทางไปในพื้นที่เพื่อสำรวจและประเมินสถานการณ์ความพร้อม จากนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องการส่งตัวกลับ ซึ่งต้องดูการเจรจาระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ และสิ่งสำคัญ คือ มาตรการระยะสั้นและระยะยาว ที่ต้องดูเรื่องความปลอดภัย ที่พักอาศัยและการดำรงชีพต่าง ๆ ให้มีความกินดีอยู่ดี ส่วนในระยะยาวต้องคำนึงถึงการดูแลด้านมนุษยธรรม และการมีชุมชนเพื่อความเข้มแข็งต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ไทยได้เคยนำเสนอมาตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นบทบาทนำของอาเซียนที่ให้มีการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ไม่มีการหารือเรื่องการอพยพของชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด


You must be logged in to post a comment Login