วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อำนาจทับซ้อน

On June 24, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 24 มิ.ย. 62)

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจาก คสช. ไปยัง กอ.รมน. มีการเตรียมการมานานแล้วหลังจากแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทำให้ กอ.รมน. ภายใต้ “กองทัพบก” เป็นหน่วยนำกำกับแผนงานทุกด้านในการบริหารจัดการประเทศ

กอ.รมน. เข้าไปมีอำนาจในทุกจังหวัดอย่างกว้างขวาง บางคนมองว่าเหมือนการ “ปฏิวัติเงียบ” โดยดึงอธิบดีอัยการภาคและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคมาอยู่ในโครงสร้าง “กอ.รมน.ภาค” ที่มี “แม่ทัพภาค” เป็นหัวหน้า ในฐานะ “ผอ.รมน.ภาค”

ภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่งของ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” รวม 35 ฉบับ เพราะผิดทั้งเนื้อหาและกระบวนการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การเมืองไทยเหมือนอยู่ใน “กะลา” การเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยเสียง “ยี้” และกลไกต่างๆเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ภายใต้วาทกรรมพิสดาร “เผด็จการประชาธิปไตย” ของ “ส.ว.ลากตั้ง”

“ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักวิชาการรัฐศาสตร์ ทวีตข้อความว่า ตั้งแต่สอนด้านรัฐศาสตร์มาสิบกว่าปีเพิ่งเคยได้ยินคำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” เป็นครั้งแรก จะแปลภาษาอังกฤษอย่างไรให้คนทั่วโลกเข้าใจ “dictatorial democracy” หรือ “Democratic dictatorship”?

“ประจักษ์” ยังชี้ว่าสังคมไทยไม่ค่อยมีการศึกษาการรัฐประหารด้วยมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้าใช้มุมนี้วิเคราะห์จะเห็นภาพว่าใครบ้างได้ผลประโยชน์จากการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนใหญ่+ผู้นำกองทัพ+เครือญาติและเพื่อนพ้องผู้นำรัฐประหาร+เครือข่ายนักการเมือง/ข้าราชการ/นักวิชาการ/สื่อที่รับใช้รัฐประหาร ฯลฯ

ส่วน “ผู้นำเหล่าทัพ” ปัญหาใหญ่คือ “อำนาจ+ผลประโยชน์ทับซ้อน” เป็นข้าราชการประจำแต่มีอำนาจตั้งนายกรัฐมนตรี และยังมีอำนาจอีกหลายประการเหนือผู้แทนจากการเลือกของประชาชน

นี่คือ 5 ปีภายใต้การปฏิรูปประเทศของ “ระบอบ คสช.”!!??

 

 


You must be logged in to post a comment Login