วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ล่าช้าอย่างตั้งใจ

On June 25, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 มิ.ย.62)

ผ่านเลือกตั้งมาครบ 3 เดือน ประเทศไทยยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ทั้งที่เงื่อนไขการแบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเกลี่ยลงตัวหมดแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นความกระตือรือร้นที่จะทำให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าเป็นความล่าช้าที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อใช้อำนาจรัฐบาลปัจจุบันอนุมัติงบ อนุมัติโครงการ อนุมัติสัมปทานอะไรหรือไม่ น่าสนใจติดตามดูเป็นอย่างยิ่ง

ครบ 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแม้ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วก็ตาม ดูท่าว่ากว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่คงล่วงเข้าเดือนกรกฎาคม เพราะถึงตอนนี้เพิ่งมีการแจกแบบฟอร์มให้ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกรอกเพื่อนำมาตรวจสอบคุณสมบัติ

ความจริงการฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่น่าจะเสร็จสิ้นได้แล้ว เพราะทุกอย่างเคลียร์ลงตัวหมดแล้วทั้งโควตาในพรรคร่วมรัฐบาลและโควตาในกลุ่มก๊วนต่างๆของพรรคพลังประชารัฐเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า

“ครบ 3 เดือนพอดีนับจากวันเลือกตั้ง ถ้าตั้ง ครม. ปลายเดือนหน้าก็จะครบ 4 เดือน หรืออาจจะกว่า 4 เดือน ซึ่งต้องถือว่ายาวนานที่สุดที่เคยมีมา พล.อ.ประยุทธ์ถือไพ่เหนือทุกฝ่ายแต่ทำไมไม่รีบตั้ง ครม. จะว่ายังไม่ลงตัวก็คงไม่ใช่ ถ้าให้ลงตัวเร็วกว่านี้ก็ยังได้ แต่ทำไมต้องรอ หรือจริงๆแล้ว พล.อ.ประยุทธ์สนุกกับการเป็นทั้งนายกฯและหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเต็มและไม่มีใครตรวจสอบนี้มากกว่า

พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในขณะที่ยังเป็นนายกฯในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบมากกว่าจะรีบตั้ง ครม. ให้เสร็จ การพูดอะไรกับต่างประเทศก็ไม่มีน้ำหนัก แต่ก็ไม่สน หรือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการทำเรื่องผลประโยชน์สำคัญอะไรให้เสร็จเสียก่อนโดยที่สภายังตรวจสอบไม่ได้ 3 เดือนมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรไปหลายอย่าง ทั้งๆที่ควรจะรอรัฐบาลใหม่ที่จะต้องแถลงนโยบายเสียก่อนและตรวจสอบได้ อีก 1 เดือนต่อไปนี้จะทำอะไรอีก ทำไมต้องรอกรกฎาคม รอกรกฎาคมทำไม”

ข้อสังเกตของนายจาตุรนต์ให้น้ำหนักไปที่ 2 ประเด็น ซึ่งถือว่าน่าสนใจมาก

หนึ่งคือตามรัฐธรรมนูญยังให้อำนาจเต็มแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยังสามารถใช้อำนาจนั้นได้ตามปกติแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว

สองคือเรื่องการตรวจสอบ แม้ปัจจุบันจะมีทั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว แต่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในสภาพที่ คสช. ยังมีอำนาจยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

แม้จะมี ส.ส. หลายพรรคการเมืองยื่นกระทู้ถามไว้หลายเรื่อง แต่รัฐบาลทหาร คสช. ก็ยังมีเกราะป้องกันการตรวจสอบได้อยู่ การตรวจสอบตอนนี้ทำได้เพียงให้เป็นประเด็นพูดถึงในสังคมเท่านั้น

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็มีการเร่งประมูล เร่งอนุมัติสัมปทานต่างๆไปหลายโครงการ เช่น ดิวตี้ฟรีในสนามบิน รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น

แม้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คือ 17 คน จาก 35 คน แต่ยังเดินหน้าอนุมัติงบประมาณ อนุมัติโครงการตามปกติ

ความล่าช้าในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ที่แต่เดิมดูเหมือนว่าเกิดจากความไม่ลงตัวในการแบ่งโควตาให้พรรคร่วมรัฐบาล แบ่งโควตาให้กลุ่มก๊วนต่างๆในพรรคพลังประชารัฐ ดูเหมือนว่าจะเป็นความล่าช้าอย่างตั้งใจ เพราะแม้การแบ่งโควตาต่างๆจะลงตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความพยายามที่จะรีบเร่งให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

จะเป็นความล่าช้าที่ตั้งใจเพื่อใช้อำนาจอนุมัติงบ อนุมัติโครงการ อนุมัติสัมปทานอะไรหรือไม่ น่าสนใจติดตามดูเป็นอย่างยิ่ง


You must be logged in to post a comment Login