วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บาทผันผวนต่อเนื่อง ลดเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3.1%

On June 26, 2019

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าเงินบาทในปี 2562 จะยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจากเดิมที่ตลาดคาดการณ์ จะปรับขึ้น 2-3 ครั้งในปีนี้ เหลือเพียง 1 ครั้ง ทำให้เงินลงทุนจากสหรัฐฯที่เคยไหลเข้ามาในตลาดไทยอาจกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯ เหมือนเดิม โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยอมรับว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบกับการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกไทย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เงินบาทเเข็งค่าขึ้นเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ และเเข็งค่าสุดในภูมิภาค

นายเชาว์ เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทอย่างเหมาะสม แต่มองว่า ธปท. ไม่สามารถปรับเปลี่ยนค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วได้ เพราะจะมีผลกระทบกับหลายฝ่าย จึงเชื่อว่า ธปท. จะมีความรอบคอบในการใช้มาตรการในการดูแลค่าเงินบาท ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย จะไม่กลับไปเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนในปี 2540 เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง และมีการก่อหนี้ต่างประเทศต่ำ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า “ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมG20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้ หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้”

แม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปี อาจลดภาพบวกลงจากเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุม กนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่ คาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น นางสาวณัฐพร มองว่าตัวเลขทั้งปีนี้ น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ เอ็นพีแอลนั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปี ก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง


You must be logged in to post a comment Login