วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตั้งการ์ดสูง

On June 27, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 27 มิ.ย.62)

ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลปกครองไม่รับพิจารณาเรื่องคณะกรรมการสรรหา ส.ว. กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมบรรจุญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการสรรหา ส.ว. ของพรรคฝ่ายค้านเข้าที่ประชุม หรือกรณีฝ่ายค้านเข้าชื่อเสนอเรื่องผ่านประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ “ลุงตู่” เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่มีคำตัดสินของทั้ง กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินรับรองความถูกต้องไว้แล้ว ล้วนแสดงให้เห็นว่าเป็นความรอบคอบของคนเขียนกติกาที่สวมการ์ดแน่นหนาบล็อกหมัดฝ่ายตรงข้ามไว้หมดแล้ว สู้กันตามกติกาไม่ว่าช่องทางใดไม่มีวันชนะ

การตั้งคำถามถึงความถูกต้อง โปร่งใส ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน กำลังกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในทุกช่องทาง

หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับเรื่องที่มีผู้ไปร้องให้สอบการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง แต่ศาลเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้อขัดแย้งทางการปกครอง จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะรับไว้พิจารณา

ล่าสุดช่องทางตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกปิดลงไปอีก เมื่อสภาจะไม่บรรจุญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว.

นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบกลั่นกรองเรื่องการยื่นญัตติและตั้งกระทู้ต่างๆ ให้เหตุผลว่า การสรรหา ส.ว. เป็นอำนาจหน้าที่ของ คสช. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจน จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะตรวจสอบได้

“หน้าที่ของสภาคือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ คสช. ไม่ใช่รัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบได้”

นายศุภชัยยืนยันว่า ไม่ใช่เกรงใจใครหรือไม่กล้าตรวจสอบ คสช. แต่ต้องยึดตามกรอบกฎหมาย ซึ่งได้แจ้งเรื่องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา รับทราบแล้ว

เท่ากับว่าช่องทางตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีข้อกังขามากมายถูกปิดไปแล้ว 2 ช่องทาง

เหลือเพียงช่องทางเดียวที่จะตรวจสอบการสรรหา ส.ว. นั่นคือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งมีข้อจำกัดว่าสามารถยื่นให้วินิจฉัยได้ประเด็นเดียวคือเรื่องการตั้งกรรมการสรรหาที่อาจไม่มีความเป็นกลาง เป็นธรรม หลากหลายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

ส่วนเรื่องเลือกแต่พวกพ้องมาเป็น ส.ว. กรรมการสรรหาเลือกกันเองไปเป็น ส.ว. ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถขยายผลทางการเมืองได้นั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเข้าใจว่าที่ฝ่ายค้านต้องการให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบก็เพื่อให้มีการอภิปรายประเด็นต่างๆให้สังคมได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่ากรรมการสรรหา ส.ว. ต้องมีที่มาหลากหลายและมีความเป็นกลาง แต่ขณะเดียวกันก็กำหนดให้เป็นอำนาจของ คสช. ด้วย

จึงมีปัญหาว่าระหว่างความหลากหลาย เป็นกลาง รัฐธรรมนูญให้น้ำหนักอย่างไหนมากกว่ากัน

เป็นภาษามวยก็ต้องบอกว่า ยกการ์ดสูงป้องกันหมัดฝ่ายตรงข้ามไว้หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังไม่ยอมจำนน ขอสู้ต่อตามกติกาแม้จะรู้ว่าเสียเปรียบ โดยร่วมกันเข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) เหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยรับรองคุณสมบัติของ “ลุงตู่” ไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชัดเจน และไม่ผูกพันต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่ กกต. องค์กรเดียวที่รับรองคุณสมบัติ “ลุงตู่” ไว้ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เคยมีมติชี้ว่า “ลุงตู่” ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบ 4 ข้อ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีอื่นไว้ (คำวินิจฉัยที่ 5/2543)

เมื่อมีคำวินิจฉัยเก่ารองรับเป็นบรรทัดฐานก็ยิ่งง่าย

นี่คงเป็นอีกกรณีที่ตั้งการ์ดสูงบล็อกหมัดฝ่ายค้านไว้ได้หมด


You must be logged in to post a comment Login