วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“เพื่อไทย”อภิปรายถล่มคสช.ปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นจริง

On June 27, 2019

ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 ต่อจากเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน

นายชวนกล่าวว่า ขอความร่วมมือให้อภิปรายแบบกระชับ หลังจากเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน อภิปรายไปอย่างกว้างขวางแล้ว เพื่อให้ญัตติที่เสนอเข้ามาจำนวน 8 ญัตติ ว่าด้วยการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกรจะได้รับการพิจารณาและไม่ตกค้าง

โดยบรรดา ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายโจมตีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติว่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ รวมถึงผลงานไร้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น ทั้งนี้ แผนปฏิรูปแต่ละเรื่องเขียนไว้อย่างสวยหรูแต่พบว่ามีแต่การโฆษณา แผนปฏิรูปเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตไม่มีความชัดเจน หลายกรณีสังคมไม่สามารถหาคำตอบหรือตรวจสอบได้

นอกจากนี้แผนปฏิรูปเป็นเพียงการสร้างอุตสาหกรรมปฏิรูปที่ได้ผลลัพธ์คือกระดาษกองใหญ่ และแผนปฏิรูปยังทำให้สมาชิกวุฒิสภาขี่คอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำหรับองค์กรที่ควรปฏิรูปมากที่สุดคือกองทัพ ปฏิรูปให้กองทัพเคารพสิทธิของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐประหารทุกๆ 4-6 ปี ทั้งนี้ การปฏิรูปยุค คสช. เป็นข้ออ้างของการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือหรือกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เอาระบบรัฐประหารมาฝังตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองให้การรัฐประหารมีความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล

อย่างไรก็ตาม ทางด้านฝ่ายรัฐบาล โดยนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงประเด็นการปฏิรูปการศึกษาว่า สำหรับการกำหนดความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยพร้อมกำหนดให้เป็นหลักสูตรและมีการสอบนั้น ตนมองว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยและความสำเร็จไม่ใช่วัดจากการสอบ ขณะที่การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศไม่ควรกำหนดโครงการจำนวนมาก เช่น การปฏิรูปการศึกษาควรกำหนดแผน 3 ด้านคือ ปฏิรูปการเรียนการสอน, ฝึกหัดครู และการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ควรใช้การบูรณาการงานร่วมกัน ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการทบทวนแผนปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 13 รวมถึงการกำหนดโครงการไม่ควรซ้ำซ้อนกับแผนของจังหวัด

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รายงานการปฏิรูปในช่วง 3 เดือนไม่มีความคืบหน้า เพราะเป็นช่วงเกียร์ว่างของข้าราชการเนื่องจากจะมีเลือกตั้ง เขียนรายงานว่าทุกอย่างดีหมด ซึ่งเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว ไม่ใช่เรื่องจริงหากเทียบกับรายงานของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย จึงมั่นใจว่าการปฏิรูปครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะการปฏิรูปจะเกิดได้ด้วย 3 ปัจจัยคือ 1.ปัจจัยภายนอกบังคับ 2.ปัจจัยภายในเร่งรัด และ 3.ผู้นำมีวิสัยทัศน์ แต่ของประเทศไทยนั้นไม่ใช่ทั้ง 3 ปัจจัย แต่ปัจจัยปฏิรูปเกิดจากการล้มอำนาจของรัฐบาลเลือกตั้ง การปฏิรูปครั้งนี้ตัวผู้นำเองไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่รู้เรื่องการปฏิรูป คนในประเทศก็ไม่ให้ความร่วมมือ และบ้านเมืองยังแตกแยก ทั้งนี้ สิ่งที่ล้มเหลวคือ การปฏิรูปการเมืองกับการศึกษา เลือกตั้งมา 4 เดือนตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ทำลายโครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองจนสื่อต่างประเทศวิจารณ์ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ส่วนเรื่องกระบวนการสรรหา ส.ว. นั้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม จะแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวนฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เพราะไม่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องกระบวนการสรรหา ส.ว. ตามที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องด้วย

จากนั้นนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าแผนปฏิรูปประเทศต้องออกมาภายใน 1 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเร่งรัดทำแผนปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องยาก และได้รับการต่อต้านในบางส่วน จึงต้องกลั่นกรองบางเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ก่อน เช่น ทนายอาสาทุกสถานี เป็นต้น ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ต้องออกกฎหมายและระเบียบรับรอง เช่น รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา หลายขั้นตอนไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายงานต่างๆที่จะนำเสนอต่อสภาทุก 3 เดือนนั้นจะมีการปรับเอกสารให้อ่านง่ายขึ้นและให้เห็นความคืบหน้า ขณะเดียวกันเว็บไซต์ของสภาพัฒน์จะเปิดให้เห็นถึงความก้าวหน้าทั้งหมด สำหรับข้อเสนอแนะของสมาชิกในวันนี้ ตนจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

ขณะที่นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นทักท้วงว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ใช้อำนาจอะไรมาชี้แจงในวันนี้ เพราะที่จริงแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะต้องมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม นายทศพรไม่ได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในขณะนั้น จึงสั่งปิดการรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 ในเวลา 15.30 น.


You must be logged in to post a comment Login