- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เรือนจำจังหวัดจันทบุรี: ต้นแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการสร้างความยุติธรรม
การที่ผู้ต้องขังสามารถกลับเข้าสู่สังคมหลังพ้นโทษได้อย่างปกติสุข นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัยทั้งกระบวนการยุติธรรมและความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน หนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) คือ การสนับสนุนให้เรือนจำทั่วประเทศนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (The Bangkok Rules) ไปใช้ในการดำเนินงานปรับสภาพเรือนจำได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ TIJ ยังร่วมมือกับ กรมราชทัณฑ์ในการสนับสนุนให้เรือนจำปรับปรุงพัฒนาเพื่อยกระดับให้กลายเป็นเรือนจำต้นแบบด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละเรือนจำ กระบวนการยุติธรรมสามารถช่วยเหลือผู้ต้องขังในระหว่างถูกคุมขัง แต่ชีวิตของผู้ต้องขังภายนอกเรือนจำหลังพ้นโทษ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเรือนจำและชุมชน เพื่อให้ท้ายที่สุด ผู้ต้องขังจะสามารถมีพื้นที่ในสังคม ทั้งในแง่ของการยอมรับจากสังคม การได้รับโอกาส และการเป็นคนดีที่ยั่งยืนได้
TIJ ได้นำคณะผู้แทนของหน่วยงานราชทัณฑ์ในจังหวัดภาคใต้เข้าศึกษาการปฏิบัติงานของเรือนจำจังหวัดจันทบุรี หนึ่งในเรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์ เพื่อศึกษาแนวทางในการนำข้อกำหนดกรุงเทพ รวมถึงระเบียบข้อบังคับตามแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และเพื่อศึกษาต้นแบบเรือนจำที่มีแนวทางการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการระหว่างเรือนจำกับชุมชน ในการสนับสนุนผู้ต้องขังหลังพ้นโทษได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในอดีตการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวจะเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ หรือ เรือนจำ เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอาจยังไม่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขัง กับ ชุมชน ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตหลังการปล่อยตัวได้อย่างดี เพราะสังคมยังไม่เปิดใจและไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันหลายภาคส่วนได้พยายามผลักดันด้วยการดำเนินงานเพื่อให้โอกาสกับผู้ต้องขังที่พ้นโทษมากขึ้น โดยเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรมที่เล็งเห็นถึงความสำคัญการคืนผู้ต้องขังสู่สังคมอย่างอย่างยืน จึงได้มีการประกาศ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อ
สุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุป คือ ให้ยกเลิก (2) ของ
ข. ของมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ ว่าจะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพราะลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพและเป็นอุปสรรคในการกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติของผู้เคยกระทำความผิดดังกล่าวหลังจากพ้นโทษ จึงสมควรยกเลิกลักษณะต้องห้ามนั้น นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการ ต่างก็ได้เปิดรับอดีตผู้พ้นโทษให้ได้กลับมามีงานทำในภาคการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคบริการที่หลากหลายมากขึ้น
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เรือนจำจังหวัดจันทบุรีนับเป็นเรือนจำที่ประสบความสำเร็จในการเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปิดรับผู้ต้องขังกลับสู่สังคม โดยการจัดทำโครงการ “จันแลนด์”เป็นสถานฝึกอาชีพผู้ต้องขัง โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนให้การสนับสนุน ทั้งนี้ผู้ต้องขังที่จะออกมาฝึกงานที่ “จันแลนด์” จะต้องผ่านการฝึกด้านการประกอบธุรกิจและเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพสุจริต โดยมีศูนย์ CARE ของเรือนจำให้การช่วยเหลือ”
เรือนจำแห่งนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีด้านการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่พยายามให้ชุมชนมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะเป็นเรือนจำที่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างดีแล้ว เรือนจำดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างเรือนจำ กับ ชุมชน ในการผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้ เห็นได้จากการสร้าง “จันแลนด์” ซึ่งภายในเป็นทั้งสวน ร้านอาหาร (เรือนจัน) ร้านกาแฟ (Inspire Café) ร้านจำหน่ายพืชผลเกษตรอินทรีย์ พิพิธภัณฑ์ และร้านนวด นอกจากนี้ยังมีบริการคาร์แคร์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังเป็นผู้ให้บริการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความพร้อมที่จะทำงานหลังจากพ้นโทษ นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังจะมีโอกาสปรับตัวในมิติของความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก โดยผู้ดูแลจันแลนด์ คือ ผู้ที่อยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังและชุมชนภายนอก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ผู้ต้องขังมีทักษะชีวิต และรู้จักการปรับตัวก่อนกลับสู่โลกภายนอกแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานเรือนจำภาคใต้ได้ศึกษาแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว เพื่อไปปรับใช้ในเรือนจำของตนเอง ซึ่งนอกจากจะ
ช่วยขยายแนวคิดการคืนผู้ต้องขังอย่างยั่งยืนให้มากขึ้นแล้ว ผลที่ได้ในระยะยาว คือ ปัญหา “คนล้นคุก” ในสังคมไทยก็จะหมดไป
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้ คือ ชุมชน และ สังคม ที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยุติธรรม โดยการสนับสนุน และส่งเสริมให้ผู้ที่เคยพลั้งพลาดเหล่านี้ให้มีอาชีพที่สุจริตอย่างยั่งยืน เพราะชุมชนเป็นทั้งกลไก และ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยโอบอุ้มและเยียวยาผู้ที่เคยกระทำผิดให้สามารถดำรงชีวิตนอกเรือนจำได้อย่างปกติสุข หากชุมชนและสังคมเข้าใจ ยอมรับ และมองว่าผู้ที่เคยพลั้งพลาดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน และสังคม การดำเนินงานที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ในสังคมได้จะเป็นไปในลักษณะร่วมมือ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เน้นการบูรณาการจากหลากหลายภาคส่วน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
กระบวนการยุติธรรม และ แนวปฏิบัติต่างๆ อาจช่วยผู้ต้องขังได้ในระหว่างที่ผู้ต้องขังอยู่ภายในเรือนจำ แต่การทำให้ผู้ต้องขังมีพื้นที่ในสังคมอย่างยั่งยืน มิอาจเป็นภาระงานของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องกลายเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้สังคมเกิดความยุติธรรมที่แท้จริงเสียที
# # # #
You must be logged in to post a comment Login