วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“พรเพชร”ปัดให้ความเห็นฝ่ายค้านแจ้งความ”ชวน”

On June 28, 2019

นายพลเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมแจ้งความนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานรัฐสภาคนที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีไม่บรรจุญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบที่มาของ ส.ว. ว่า เรื่องที่จะไปดำเนินคดีตนไม่ขอตอบ ส่วนประเด็นที่ ส.ส. อภิปรายในประเด็นไม่อยากให้ ส.ว. มีส่วนในกฎหมายปฏิรูปด้านต่างๆนั้น เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไร ส.ว. ก็ต้องทำตาม ถ้าบัญญัติว่าเรื่องใดต้องทำอย่างไรบ้าง กฎหมายอะไรที่ต้องประชุมร่วมกันก็ต้องทำตาม ส่วนอะไรที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ จะทำผิดจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ เป็นสมาชิกรัฐสภาจะทำผิดไม่ได้ นอกจากว่าจะไม่พอใจเรื่องอะไรก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น

เมื่อถามว่า ส.ส. กังวลว่า ส.ว. จะมีอำนาจเหนือ ส.ส. นายพรเพชรกล่าวว่า จะไปอยู่เหนือได้อย่างไร เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องเสนอมาที่ ส.ส. ก่อน ส.ว. เพียงแต่กลั่นกรอง หากมีปัญหาขึ้นมาจะต้องมีกระบวนการแก้ไขปัญหา ตนยังไม่เห็นว่า ส.ว. จะมีอำนาจเหนือ ส.ส. ได้อย่างไรในกระบวนการร่างกฎหมาย

เมื่อถามว่าญัตติในการตรวจสอบการตั้ง ส.ว. สามารถทำได้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ต้องไปยื่นญัตติต่อ ส.ส. ตนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร เพราะตนเป็น ส.ว. ท่านจะใช้ดุลยพินิจอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถามว่ากระบวนการต่างๆถือว่าทำถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ถ้าจะต้องพิจารณาจะต้องทำไปตามหลักกฎหมาย ยึดมั่นในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและดำเนินการไปตามนั้น ต่อข้อถามว่าขั้นตอนการแต่งตั้งหรือการสรรหาเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว การตรวจสอบย้อนหลังสามารถทำได้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่ทราบ จะมีขั้นตอนอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

เมื่อถามอีกว่ากรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว. กรณีการถือครองหุ้นสื่อจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของ ส.ว. หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้นายเรืองไกรเสนอไปที่ กกต. และ กกต. คงจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งตนยังไม่เห็นรายละเอียดของคำร้องดังกล่าวว่ายื่นไปว่าอย่างไร ส่วนระยะที่ ส.ว. ต้องโอนหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งนั้น ถ้าพูดตามความเห็นของตน กระบวนการสรรหาของ ส.ว. แตกต่างจากของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว. มีกระบวนการที่หัวหน้า คสช. จะต้องเสนอเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯผู้ที่จะเป็น ส.ว. ดังนั้น ตนมีความเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการทูลเกล้าฯจะต้องตรวจดูคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอให้เป็น ส.ว. ว่าขาดคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ก็ต้องถือเป็นวันนั้น เอาง่ายๆ คงทราบว่ามี สนช. และรัฐมนตรีหลายคนได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ซึ่งต้องลาออกก่อน ตนจำได้ว่าส่วนใหญ่ลาออกก่อนวันที่ 8-9 พฤษภาคมเป็นอย่างช้า ดังนั้น ถือว่าได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว คุณสมบัติข้อนี้ก็สมบูรณ์ เพราะเกิดขึ้นก่อนหัวหน้า คสช. จะเสนอรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งตนไม่ทราบว่าหัวหน้า คสช. นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯวันไหน รู้เพียงว่าเมื่อ คสช. แจ้งว่าจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งเดิม

 

 


You must be logged in to post a comment Login