- ปีดับคนดังPosted 11 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
‘ขึ้น-ลงเครื่องบิน’ มีปัญหาปวดหู หูอื้อ…ทำอย่างไรดี
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2562 )
โดยปกติร่างกายเรามีท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เมื่อใดที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติไปจะทำให้เกิดอาการหูอื้อ, ปวดหู, มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อยคือ เวลาขึ้นหรือลงลิฟต์เร็วๆ หรือเครื่องบินขึ้นหรือลงเร็วๆ จะมีอาการหูอื้อ ปวดหู
เราจะทำอย่างไรดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปวดหูเวลาเครื่องบินขึ้นหรือลง
1.เวลาเดินทางควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป เช่น นอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ, ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ, การดื่มหรืออาบน้ำเย็น, ตากฝน หรือสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้
*สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ (เช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, อารมณ์เศร้า, วิตกกังวล, เสียใจ, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือหวัด) เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูกจะส่งผลถึงรูเปิดของท่อยูสเตเชียนซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูก ทำให้การทำหน้าที่ของท่อยูสเตเชียนผิดปกติไป เกิดปัญหาของหูดังกล่าว
2.ถ้ามีอาการทางจมูก เช่น คัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล และจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทางจมูก เช่น รับประทานยาแก้แพ้, ยาหดหลอดเลือด หรือใช้ยาพ่นจมูก อาจร่วมกับการล้างจมูก หรือการสูดไอน้ำร้อน เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เยื่อบุรอบรูเปิดท่อยูสเตเชียนยุบบวมลง ทำให้ท่อยูสเตเชียนกลับมาทำงานปกติได้เร็วขึ้น อาจรับประทานยาหดหลอดเลือด (oral decongestant เช่น pseudoephedrine) ก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลงประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพ่นยาหดหลอดเลือด (topical decongestant เช่น ephedrine, oxymetazoline) ก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลงประมาณ 5 นาที
3.นอกจากนั้นควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิด/ ปิดอยู่ตลอดระหว่างเครื่องบินขึ้นหรือลง เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้มีการกลืนน้ำลายบ่อยๆ ซึ่งขณะกลืนน้ำลายจะมีการเปิดและปิดของท่อยูสเตเชียน หรือบีบจมูก 2 ข้างและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (ท่อยูสเตเชียนจะปิด) และเอามือที่บีบจมูกออกและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (ท่อยูสเตเชียนจะเปิดและปิด) ขณะที่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบ ซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรบีบจมูกและเป่าลมให้เข้ารูเปิดของท่อยูสเตเชียน เพราะจะทำให้เชื้อโรคในจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลางได้
4.ถ้าได้ป้องกันอาการของหูก่อนขึ้น/ลงเครื่องบินดังข้อ 2 แล้วยังมีอาการทางหูอยู่ อาจพ่นหรือหยอดยาหดหลอดเลือดเข้าไปในจมูกอีกทุก 10-15 นาที และทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิด/ปิดอยู่ตลอดดังอธิบายไว้แล้วในข้อ 3 ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องหูเวลาขึ้น/ลงเครื่องบิน ควรพกยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นและชนิดรับประทานไว้ด้วยเสมอ
เท่านี้…การเดินทางก็จะราบรื่น ปราศจากอาการของหูที่จะรบกวนอีกต่อไป
You must be logged in to post a comment Login