วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ฆาตกรรมสุดขอบโลก

On June 28, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2562 )

การเสียชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ที่สถานีวิจัยในขั้วโลกใต้ดูเหมือนเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคลึกลับบางอย่าง แต่หลังจากชันสูตรอย่างละเอียดพบสารพิษปริมาณมากในร่างกาย

วันที่ 11 พฤษภาคม 2000 ร็อดนีย์ มาร์กส์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย วัย 32 ปี ประจำอยู่ที่สถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์ ขั้วโลกใต้ รู้สึกเหนื่อยล้า หายใจลำบาก และดวงตาพร่ามัว บางครั้งอาการผิดปกติทางร่างกายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -80 องศาฟาเรนไฮต์ ประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นฤดูหนาวของขั้วโลกใต้จึงมองไม่เห็นดวงอาทิตย์แม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม

ร็อดนีย์ตัดสินใจเข้านอนแต่หัววันเพื่อพักผ่อน ซึ่งอาจทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม เวลา 05.30 น. เช้ามืดวันที่ 12 พฤษภาคม ร็อดนีย์สะดุ้งตื่นแล้วอาเจียนออกมาเป็นเลือด เขารีบประคองร่างตัวเองโซซัดโซเซไปหาแพทย์ประจำสถานีวิจัยซึ่งอยู่ที่อาคารอีกหลังหนึ่ง

นายแพทย์โรเบิร์ต ทอมป์สัน ตั้งสมมุติฐานว่าเป็นอาการทางจิต เกิดกับผู้ที่อยู่ในสถานที่คับแคบเป็นเวลานาน เขาทำการรักษาเบื้องต้นแล้วบอกให้ร็อดนีย์กลับไปพักผ่อน แต่อาการของร็อดนีย์ไม่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามมันยิ่งกลับเลวร้ายลง รู้สึกปวดแสบปวดร้อนตามข้อพับและหน้าท้อง ดวงตาสู้แสงไม่ได้จนต้องสวมแว่นกันแดดทั้งๆที่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นในฤดูหนาว เขาจึงกลับมาหาหมออีกครั้ง

โรเบิร์ตเริ่มลังเลสงสัยว่าไม่ใช่อาการทางจิตตามที่คิดตอนแรกจึงจัดยาให้และบอกให้กลับไปพักผ่อน ร็อดนีย์หายกลับไปพักใหญ่ๆแล้วกลับมาพบแพทย์เป็นครั้งที่สาม คราวนี้เขามีอาการหายใจถี่ โรเบิร์ตจึงให้ยากล่อมประสาทเพื่อให้ร็อดนีย์ได้พักผ่อนและไม่กระวนกระวาย

ร็อดนีย์ค่อยๆเอนหลังลงบนเตียงคนไข้ การหายใจกลับคืนสู่สภาวะปกติ ดูเหมือนว่าอาการจะดีขึ้น แต่เพียงไม่นานหลังจากนั้นร็อดนีย์ก็เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรเบิร์ตพยายามปั๊มหัวใจนาน 45 นาที แต่ร็อดนีย์ก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีก เขาเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเวลา 18.45 น.

ฤดูหนาวในขั้วโลกใต้ท้องฟ้าจะมืดสนิทตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบกับสภาพอากาศไม่อำนวยต่อการนำเครื่องบินลงจอด ดังนั้น จึงต้องเก็บร่างของร็อดนีย์ไว้ที่สถานีวิจัยจนกว่าจะสิ้นฤดูหนาวเครื่องบินจึงจะเดินทางมารับร่างของเขากลับประเทศได้

รอกลับบ้าน

ร็อดนีย์เคยมาประจำที่สถานีวิจัยขั้วโลกใต้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1997-1998 ดร.คริส มาร์ติน ผู้ที่ทำงานร่วมกับร็อดนีย์ในคราวนั้นกล่าวว่า ร็อดนีย์รักงานที่ทำมาก และยังบอกอีกด้วยว่าอยากกลับมาที่ขั้วโลกใต้อีก ด้วยเหตุนี้เขาจึงลงชื่ออาสามาทำงานวิจัยในปี 1999-2000

การมาครั้งที่สองนี้ร็อดนีย์ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดเพื่อนำไปพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ว่าร็อดนีย์จะแต่งตัวเซอร์ๆ แต่เขาก็เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน แถมยังสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับซอนย่า โวลเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญการซ่อมบำรุง ถึงขั้นมีแผนว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน

โรเบิร์ตแจ้งกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัย 49 คนว่าร็อดนีย์เสียชีวิตตามธรรมชาติ คาดว่าเป็นโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากเขาเป็นแพทย์รักษาไม่ใช่แพทย์ชันสูตร ดังนั้น จึงต้องรอส่งร่างร็อดนีย์ไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการผ่าพิสูจน์จึงจะรู้สาเหตุที่แท้จริง

ช่วงระหว่างรอให้หมดฤดูหนาว เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยช่วยกันหาแผ่นไม้มาต่อเป็นโลงศพ นำร่างร็อดนีย์ไปเก็บในห้องเสบียง ปล่อยให้อากาศหนาวเย็นของขั้วโลกใต้รักษาร่างไม่ให้เน่าเปื่อย

พบสารพิษ

วันที่ 30 ตุลาคม เครื่องบินมารับร่างร็อดนีย์ไปส่งที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ นายแพทย์มาร์ติน เซจ ทำหน้าที่ผ่าชันสูตร และในที่สุดก็พบความจริงว่าร็อดนีย์ไม่ได้เสียชีวิตตามธรรมชาติ ในร่างกายมีสารเมทานอลปริมาณ 150 มล. หรือประมาณ 1 แก้วไวน์

สถานีวิจัยใช้สารเมทานอลทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ มันเป็นสารที่ไม่มีสี รสหวานละมุน แต่เป็นพิษ ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถปลิดชีวิตคนได้ แต่สารเมทานอลเข้าสู่ร่างกายร็อดนีย์ได้อย่างไร เขาจงใจดื่มเองหรือมีคนวางยา

การสืบสวนคดีนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากขั้วโลกใต้หรือทวีปแอนตาร์กติกามี 54 ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญา ร็อดนีย์เป็นคนออสเตรเลีย ทำงานให้กับสถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์ ซึ่งเป็นของอเมริกา แต่ที่ตั้งสถานีวิจัยอยู่ในเขตรอสดีเพนซี ซึ่งนิวซีแลนด์อ้างกรรมสิทธิ์

นิวซีแลนด์ขอเป็นเจ้าภาพ มอบหน้าที่ให้กับนักสืบแกรนต์ เวอร์มัลด์ การสืบสวนสรุปความเป็นไปได้ 4 กรณีคือ ร็อดนีย์ดื่มเมทานอลโดยไม่ตั้งใจ หรือจงใจดื่มเพื่อความรื่นรมย์ หรือจงใจดื่มเพื่อฆ่าตัวตาย หรือมีคนอื่นวางยา แต่การจงใจดื่มเพื่อฆ่าตัวตายมีน้ำหนักน้อยที่สุด เพราะร็อดนีย์กำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์และกำลังมีความรัก

น่าจะโดนวางยา

ร็อดนีย์เคยเป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก ดังนั้น เขาอาจดื่มเมทานอลเพื่อระงับอาการแต่พลั้งมือดื่มมากไปหน่อย หรือไม่เขาก็ตั้งใจดื่มให้เคลิ้มๆแต่มือหนักไปหน่อย เพราะเขาได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง แต่สมมุติฐานทั้งสองข้อนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะที่สถานีวิจัยมีสุรา ร็อดนีย์ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการดื่มเมทานอล อีกทั้งตอนที่ป่วยเขาไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าเป็นอะไร ถ้าเขาดื่มเมทานอลเข้าไปเขาก็ต้องรู้สาเหตุและบอกกับแพทย์ได้ ดังนั้น ความน่าจะเป็นมากที่สุดคือถูกวางยา

คำถามแรกคือ ทำไมโรเบิร์ตจึงตรวจไม่พบสารพิษ ทั้งๆที่สถานีวิจัยมีเครื่องตรวจเลือด โรเบิร์ตให้การว่าแบตเตอรี่เครื่องตรวจเลือดเสื่อม การเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้องทำการตั้งค่าเครื่องตรวจเลือดใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง เขาจึงไม่ได้ใช้มัน

ซอนย่าโต้แย้งข้ออ้างนี้ เธอบอกว่าการตั้งค่าเครื่องตรวจเลือดไม่ได้ยากเย็นอะไร หากโรเบิร์ตไม่เข้าใจก็สามารถโทรศัพท์สอบถามฝ่ายบริการด้านเทคนิคได้ โรเบิร์ตไม่ตอบว่าทำไมเขาไม่ถามช่างเทคนิค และไม่มีการสอบปากคำโรเบิร์ตอีก

แกรนต์ติดต่อไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา ซึ่งควบคุมดูแลสถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์ เพื่อขอข้อมูลการสืบสวนทางฝั่งอเมริกา ปรากฏว่าสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกาส่งให้เพียงแบบสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์ช่วงเวลาเกิดเหตุ 13 คน จากจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 49 คน

การสืบสวนพบทางตัน เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าร็อดนีย์ได้รับสารพิษเมทานอลเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

1

1.ร็อดนีย์ มาร์กส์

2

2.ร็อดนีย์กับเพื่อนนักวิจัย

3

3.เครื่องบินขนส่งสัมภาระให้เจ้าหน้าที่สถานีวิจัย

4

4.สถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์

5

5.ร็อดนีย์กับกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรด

6

6.ทางเข้าสถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์

7

7.สถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์ยามค่ำ

Timeline_PDF2

8.วิวัฒนาการสถานีวิจัยอะมุนด์เซน-สก็อตต์

9

9.ห้องพักเจ้าหน้าที่

10

10.ซอนย่าบนเสาตรวจอากาศ

sonja2

11.ซอนย่า (เสื้อฟ้า) และเพื่อนนักวิจัย

 

 


You must be logged in to post a comment Login