วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เสนอนายกฯประชาชน 89% ต้องการเหมืองทองอัครา

On July 18, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  19-26 ก.ค. 2562 )

การสั่งปิดเหมืองทองคำตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบหรือไม่อย่างไร คณะนักวิจัยได้ทำการสำรวจเพื่อช่วยตอบคำถามและเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานของทางราชการ การสำรวจด้วยแบบสอบถามนี้ดำเนินการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) โดยมีคณะนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ดำเนินการ (ไม่เกี่ยวกับวิทยาลัย) เพราะเป็นบุตรหลานผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โดยตรง การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด หรือประมาณ 17% ของประชากร นับว่าเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวแทนได้

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นหญิง 54% โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ปี ต่างก็อยู่ในพื้นที่มานาน โดยเฉลี่ย 38 ปีแล้ว ประชากรที่ให้สัมภาษณ์มีถึง 44% ที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด จึงนับได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามทราบข้อมูลในพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ อาชีพของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มใหญ่ที่สุดทำการค้าขายหรืออาชีพอิสระ แต่เป็นการค้าขายเล็กๆน้อยๆเป็นสำคัญ มีประชากรที่เป็นเกษตรกร 29% แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรในวันหยุดราชการ

ในด้านเศรษฐกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ในทางตรงกันข้ามประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำดีกว่าปัจจุบัน ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100% เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมืองอยู่ที่ 111% แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร และเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ

1

ต่อประเด็นสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้ ปรากฏว่า 93% ระบุว่าในปัจจุบันและก่อนปิดเหมืองมีสภาพเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกัน อาจกล่าวได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับเหตุผลของการเห็นด้วยกับการปิดเหมือง ได้แก่ ฝุ่นละอองเยอะ (21%) กังวลเรื่องมลพิษ (19%) ชาวนาต้องการน้ำทำนา (15%) เสียงดังรบกวน (15%) ส่วนเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่คือ ขาดรายได้ (24%) ไม่มีงานประจำทำ (21%) ตกงาน (15%) เศรษฐกิจตกต่ำ (15%) ทำงานไกลบ้าน (13%) จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ การมีเหมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมามากมาย

สำหรับข้อเสนอแนะได้แก่

1.ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

2.ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย

3.ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

2

อนึ่ง ผลการสำรวจครั้งนี้ยืนยันตามที่เคยสำรวจไว้ก่อนหน้านี้ (9 พฤษภาคม 2559) ว่าประชาชนถึง 4 ใน 5 (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป (https://bit.ly/1slFPir) และพบว่าในแต่ละหมู่บ้านแทบไม่มีการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยที่คาดว่ามาจากมลพิษของการทำเหมืองทองคำในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเลย ประชาชนผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายระบุว่า หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคชราก็ถูกนำมาอ้างว่าเสียชีวิตเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ

สำหรับแนวทางการแก้ไขก็คือ ควรจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองทองคำ ทั้งนี้ ไม่พึงเกรงว่าจะเป็นการทำลายรากเหง้าชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะกรณีคนไทย จีน หรืออินเดีย ย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้สูญหาย และควรดำเนินการสำรวจเป็นระยะๆและเผยแพร่ให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่น เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครได้ทราบ จะได้เข้าใจการมีเหมืองและไม่ต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นในการทำเหมืองรัฐบาลควรกำหนดเขตให้แน่ชัดแล้วทำการเวนคืนให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีปัญหากับประชาชนบางส่วน

นายกฯโปรดพิจารณาด้วย เพื่อชาติและประชาชน

 


You must be logged in to post a comment Login