วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การแพ้ยา

On July 19, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : พญ.ชามาศ วงค์ษา ภาควิชาอายุรศาสตร์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  19-26 ก.ค. 2562 )

การแพ้ยา (Drug allergy) คือปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดจากการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างจำเพาะต่อยา มักเป็นปฏิกิริยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และไม่เกี่ยวข้องกับขนาดของยา ในทางการแพทย์จำเป็นต้องแยกกับคำว่า ผลข้างเคียงของยา (Side effect) คือฤทธิ์ของยา ซึ่งสามารถคาดเดาว่าจะเกิดได้ และมักเกี่ยวข้องกับขนาดยา

ยกตัวอย่างเช่น รับประทานยาไอบูโพรเฟน (ยาแก้ปวด) แล้วมีอาการปวดแสบท้อง เรียกอาการนี้ว่าเป็น “ผลข้างเคียง” เกิดจากฤทธิ์ของยาแก้ปวดที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร แต่หากเกิดอาการผื่นลมพิษ คัน ความดันโลหิตต่ำ จะเรียกปฏิกิริยาเหล่านี้ว่า “การแพ้ยา” เกิดจากยาไอบูโพรเฟนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างสารออกมาต่อต้านจนเกิดเป็นอาการแพ้ขึ้น

ในกรณีที่อาการเกิดจากผลข้างเคียงของยา การปรับลดขนาดยาหรือรักษาอาการข้างเคียงนั้นคู่กันไป ก็มักจะสามารถใช้ยานั้นต่อไป โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อาการแพ้ยาสามารถเกิดได้ในหลายระบบ ได้แก่

1.ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ลมพิษ ตัวแดง ตุ่มน้ำพอง เป็นต้น

2.ระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจเหนื่อย หอบ หลอดลมตีบ ปอดอักเสบ เป็นต้น

3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ ความดันตก หมดสติ เป็นต้น

4.ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ตับอักเสบ เป็นต้น

หากมีอาการหลายระบบ และเกิดภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังได้รับยา เรียกว่าการแพ้ยารุนแรง (drug anaphylaxis) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีการแพ้ยาแบบเกิดขึ้นช้า มักเกิดหลังได้รับยาไปแล้วมากกว่า 1 ชั่วโมง โดยมากมักเกิดอาการทางผิวหนัง มักไม่เป็นอันตรายมาก แต่หากมีอาการตุ่มน้ำพอง ผิวหนังลอก เยื่อบุตา ปาก หรืออวัยวะเพศเป็นแผล มีตุ่มหนอง หน้าบวมแดง มีไข้ อ่อนเพลีย จะถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง (severe cutaneous adverse drug reaction) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีการรักษาเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่าแพ้ยา

1.หยุดยาที่สงสัยทันที

2.หากมีอาการสงสัยการแพ้รุนแรง หรือผื่นแพ้ยารุนแรง ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที พร้อมกับนำยาทั้งหมดที่รับประทานไปด้วย

3.ถ่ายรูปผื่นที่เกิดขึ้นเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย เนื่องจากผื่นบางชนิด เช่น ลมพิษ มักหายไปเองได้อย่างรวดเร็ว

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อแพ้ยา

1.หลีกเลี่ยงยาที่แพ้ และยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน

2.พกบัตรแพ้ยา และแสดงบัตรเสมอเมื่อซื้อยาหรือรับบริการในโรงพยาบาล/คลินิก

3.ใช้ยาเท่าที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ

4.ไม่ควรลองใช้ยาที่สงสัยว่าจะแพ้เอง หรือรับประทานยาแก้แพ้ก่อน เนื่องจากไม่สามารถป้องกันการแพ้ยาได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

5.หากมียาต้องสงสัยหลายชนิด หรือเป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน (penicillin) ยาชา ยาที่ใช้ในการผ่าตัดดมสลบ เป็นต้น ควรพบแพทย์โรคภูมิแพ้เพื่อวางแผนการทดสอบยาต่อไป

ความรู้เรื่องการทดสอบยาเบื้องต้น

การทดสอบยาเป็นการทำเพื่อทดสอบว่าแพ้ยาจริงหรือไม่ และเพื่อหายาให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างปลอดภัยในอนาคต การทดสอบยาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบทางผิวหนัง การตรวจเลือด หรือการได้รับยาอย่างช้าๆในความดูแลใกล้ชิดของแพทย์โรคภูมิแพ้ เป็นต้น การตัดสินใจว่าควรทดสอบยาหรือไม่ ควรเลือกวิธีการใด ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย และดุลยพินิจของแพทย์โรคภูมิแพ้


You must be logged in to post a comment Login