วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สามช่องเหนือ พังงา ต้นแบบ “บ้านสวย เมืองสุข”

On August 2, 2019

1

ขณะที่กระแสการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวจีนในพื้นที่ภาคใต้ลดลง แต่ล่าสุดนักท่องเที่ยวชาวอาหรับและอินเดียกลับเพิ่มมากขึ้น และในอีกมุมนึงวิถีท่องเที่ยวชุมชนกลับคึกคักและยั่งยืนกว่า อย่างหมู่บ้านชาวประมงอ่าวพังงา บ้านสามช่องเหนือ หมู่ 9 ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ประกาศตนพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนานาชาติให้ไปเยือน

“เราคุ้นเคยกับพื้นที่ เรารู้ว่าที่ไหนต้องเที่ยวตอนไหน ตรงไหนที่ยังไม่ได้เป็นจุดขายที่คนทั่วไปรู้จัก แต่เรา…รู้”

“ทรัพยากรในพื้นที่ของเรามีอะไร เอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และจะอนุรักษ์ไว้ได้อย่างไร”

2

จากชุมชนเล็กๆ ยิ้มไม่เป็น คุยไม่เก่ง กลับกลายเป็นชุมชนที่พร้อมต้อนรับและกำลังยืนได้อย่างมั่นคงด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งมีรายได้เฉลี่ยในปี 2561 ทั้งสิ้น 51,674.64 บาท เมื่อเทียบกับรายได้ในปี 2560  มีรายได้46,674.27 บาท คิดเป็นรายได้เพิ่มร้อยละ 10.71

การติดตามศึกษาดูแนวทางการบริหารจัดการบ้านสามช่องเหนือกับนายวรญาณ บุญณราช ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เขตตรวจราชการที่ 6 กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าหมู่บ้านสามช่องเหนือหมู่ 9 แห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีการการบริหารจัดการและพัฒนาโดยการนำของผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านที่รวบรวมภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาบริหารจัดการพัฒนาหมู่บ้านในมิติต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนด้วยกันเอง กระทั่งวันนี้ได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่น บ้านสวยเมืองสุขในระดับเขตไปแล้ว อันจะเป็นต้นแบบที่ดีที่จะไปขยายผลในหมู่บ้านอื่นๆได้ต่อไปโครงการคัดเลือกหมู่บ้านดีเด่น

6

“บ้านสวย เมืองสุข” กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่มีพระราชดำริให้มีตำแหน่ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล จังหวัด อำเภอ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างบทบาท สร้างแรงจูงใจ รวมทั้งขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเหล่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้รับผิดชอบงานในระดับพื้นที่ ให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ แก้ไขปัญหาอุปสรรคของพื้นที่ตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายสุรัตน์ สุมาลี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสามช่องเหนือ หมู่ 9 ต.กะไหล กล่าวว่า ตนเริ่มรับเข้ามารับหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี 2555  โดยส่วนตัวรู้อยู่ในพื้นที่และรู้จักปัญหา  โอกาส อุปสรรค และแนวทางการดำเนินกิจกรรมของหมู่บ้านเพราะทำมาโดยตลอด ก่อนหน้านั้นก็เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรุ่น 4 และมาเป็นผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 5

4

“แนวคิดส่วนตัวว่าผมอยากพัฒนางาน พัฒนาคน พัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนด้วยหลักคิด 3 พ. เข้ามารับบทบาทหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน หลักใหญ่เลยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เปิดเวทีประชาคม วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของชุมชน โดยได้วิเคราะห์และตกผลึก ถึงศักยภาพตามวิถีตามอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีแนวทางร่วมกันที่จะขับเคลื่อนหมู่บ้านสามช่องเหนือ ให้เป็นหมู่บ้านประมงในเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจ มีความมั่นคงทางด้านอาหารและพัฒนาหมู่บ้านของเราให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

โดยนำศักยภาพในพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรหลากหลายและมีความอุดมสมบูรณ์ อาทิ ธนาคารหอยแครง หอยหลักควาย กิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่ กิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูปูแสม สร้างบ้านปลา   ทั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวกระแสหลัก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพังงา อาทิ เขาตาปู/เขาพิงกัน หรือเขาเจมส์บอนด์ ถ้ำลอด เกาะปันหยี ถ้ำเพชรปะการัง แหล่งท่องเที่ยวเล่านี้อยู่ในพื้นที่ต.กะไหล ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวอันซีนในอ่าวพังงาซึ่งชาวชุมชนจะรู้จักพื้นที่ตนเองดี

5

การนำทรัพยากรและภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาพัฒนาต่อยอดด้านเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้คนในหมู่บ้านได้เรียนรู้ฝึกพัฒนาคนโดย สร้างกระบวนการเรียนรู้งานต่างๆ อาทิ การปลูกผักส่วนครัวไว้กินเอง เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ สามารถลดรายจ่ายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอาทิ เรือนำเที่ยว เรือแคนนู โฮมสเตย์ อาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้ามัดย้อม ใบจาก แชมพูสบู่เหงือกปลาหมอ เรือจำลอง กะปิ การลดรายจ่าย ปี 60  41,015.34 บาท ปี 61 35,811.30 ลดลงมาได้ร้อยละ 12.57

“สิ่งสำคัญที่เราดำเนินการมาได้ คือการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแบ่งปัน และร่วมคิดสร้างสรรค์ คณะกรรมการและพี่น้องในชุมชนต้องพูด ต้องชี้แนะแก่บุคคลที่เขาไม่รู้ ต้องแนะในสิ่งที่เราต้องการให้เขาได้รู้ เพื่อให้ชุมชนไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ แนวทางที่เราได้มีการประชาสัมพันธ์ พูดคุย ใช้กลไกของคณะกรรมการหมู่บ้านมาขับเคลื่อน”

นอกจากนั้นประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆเพื่อให้ในคนหมู่บ้านร่วมรับรู้ อาทิ หอกระจายข่าว ติดประกาศประชาสัมพันธ์ และยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเซียลเพื่อให้ลูกหลานคนในชุมชนซึ่งอยู่ต่างถิ่นได้รับข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย

3

ด้านประมงก็มีคณะกรรมการบริหารประมงช่วยกันดูแล ซึ่งนายวิทยา นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า เมื่อก่อนเป็นหมู่บ้านปิด ไม่มีไฟฟ้าไม่มีน้ำประปา ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน บริการเรือนำเที่ยวตามเกาะ หลังจากเกิดสึนามิ บ้านเรือนไม่เสียหาย โชคดีเรามีป่าไม้ชายเลนเป็นกำแพงกันชนให้ชุมชนเรา แต่ผลกระทบที่เราได้รับคือ กุ้ง หอย ปูปลาหายหมด ระบบนิเวศน์เสีย ดินแยก น้ำขึ้นมาดำหมด ก่อนสึนามิชาวบ้านออกเรือไปหาอย่างน้อยได้พันกว่าบาท แต่พอหลังสึนามิได้วันละ 100-200 บาท กุ้งจะทำกะปิ ปูดำไม่มีเลย เกิดวิกฤต ประสบทั้งภัยธรรมชาติและภัยทางสังคม  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เข้ามาให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก

พิบัติภัยสึนามิ ให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนที่ได้มาจากการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน

ต่อมาได้รับผลกระทบต่อเนื่องเมื่อทางการมีมาตรการยกเลิกการทำประมงชายฝั่งผิดกฎหมาย IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งในพื้นที่ทำประมงโพงพาง 200-300 ปาก เรืออวนลากอวนรุน ทำให้เกิดวิกฤตซ้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ของคนในชุมชน ทางคณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้ไปดูงานที่เกาะยาว ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆ คล้ายกัน คณะกรรมการก็นำมาปรับใช้เพราะเรามีต้นทุนใกล้เคียงอยู่แล้ว เดิมชุมชนเรามีเรือหัวโทงออกไปให้บริการในพื้นที่อ่าวพังงา แต่ยังไม่เป็นกลุ่ม ต่างคนต่างทำมือใครยาวสาวได้สาวเอา  อาทิ เรือนำเที่ยว 1,500 บาทต่อเที่ยว คนในชุมชนขับเรือนำเที่ยวตากแดดตากลมโดนหักค่าหัวคิดเหลือแค่ 1,000 บาทหักค่าน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนค่อนข้างสูง เราก็เริ่มมาตั้งเป็นกลุ่มออกเป็นคิว เกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเรือ ลงหุ้นจัดระบบทำงบดุลกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงปีแรกสร้างรายได้รวมกว่า 900,000 บาท จากเมื่อก่อนรายได้รวมประมาณ 400,000 กว่าบาทต่อปี

9

เมื่อมีการรวมกลุ่มกันนอกจากจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มฯ ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสวัสดิการบริหารจัดการต่างๆ ในชุมชน อาทิ เรือนำเที่ยว 1500 บาท หักรายได้เข้ากลุ่ม 100 บาท ตอนหลังราคาน้ำมันขึ้นก็ลดการจัดเก็บเข้ากลุ่มลงเหลือ 50 บาท รายได้ส่วนหนึ่งได้นำมาใช้ในการบริหารจัดการขยะในชุมชนซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเฉลี่ยปีละ 40,000 บาท

การบริหารจัดการที่เริ่มจากคนในชุมชน ด้วยความเสียสละของคนในชุมชนคนละไม้คนละมือทั้งในด้านการเก็บกวาดและการคัดแยกขยะ การใช้ประโยชน์จากขยะ การทำน้ำหมัก และจัดทำถังขยะให้น่าดู น่าสนใจ จัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ร่วมกันดูแลพื้นที่ในชุมชนให้ดูสะอาดตายิ่งขึ้น  ความภูมิใจของผม คือ ทุกคนมีส่วน เราจะเน้น เพื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ร่วมกัน กรณีเกิดปัญหาข้อขัดแย้ง อาทิ ระหว่างผู้ให้บริการเรือนำเที่ยว กรณีพิพาทเรื่องที่ดินของคนในชุมชน กลุ่มเสี่ยงสารเสพติด ก็ใช้การพูดคุยตักเตือนกัน

การร่วมแรงร่วมใจยืนหยัดต่อสู้ที่จะพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นชุมชนที่มีหลักคิด

… สุขกิน สุขกาย สุขใจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ตามคำขวัญ “คลองสามสาย บ้านสบายสองฟาก มากมายทรัพยากร จุดสัญจรอ่าวพังงา ล้ำค่าวัฒนธรรม”

ส่วนใครจะไปตามหา มหัศจรรย์ปีปี ต้นไม้ดำน้ำ 5-8 ชั่วโมงต่อวัน มหัศจรรย์แห่งรักเรื่องเล่าในตำนานที่ชาวเรือพื้นถิ่นเท่านั้นจะรู้  รักจัง…พังงา

ติดต่อคุณสุรัตน์ สุมาลี 086-7417949 ทุกวันเวลา 09.00-17.00 น.


You must be logged in to post a comment Login