- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
‘โรคความดันโลหิตสูง’ภัยเงียบใกล้ตัว
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : อ.พญ.สิริสวัสดิ์ วันทอง ภาควิชาอายุรศาสตร์
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 9–16 สิงหาคม 2562)
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย และคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ซึ่งหากปล่อยไว้และเป็นนานๆเข้าอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่างๆตามมามากมาย มารู้จักโรคนี้เพื่อจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องต่อไป
ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น บิดา มารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเค็ม
สำหรับโรคความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุนั้น พบได้น้อยแต่ก็มีความสำคัญ เนื่องจากบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ โรคที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ ยาบางชนิด หรือเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาจะทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต หลอดเลือด และตา ดังนั้น หากท่านวัดความดันโลหิตและพบว่ามีความดันโลหิตสูงควรได้รับการประเมินและตรวจรักษาเพิ่มเติมจากแพทย์
การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงวินิจฉัยได้จากการวัดความดันโลหิตเท่านั้น โดยค่าความดันโลหิตที่วัดที่โรงพยาบาล หากมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จัดว่ามีความดันโลหิตสูง จากนั้นท่านจะได้รับการวัดความดันโลหิตซ้ำว่าความดันโลหิตสูงจริง ได้รับการตรวจหาสาเหตุว่าเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่มีสาเหตุหรือไม่ ได้รับการตรวจประเมินหาหลักฐานการทำลายของอวัยวะต่างๆจากโรคความดันโลหิตสูง ประเมินความเสี่ยงอื่นๆต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ และได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดการรับประทานอาหารเค็มหรือเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งอยู่ในเครื่องปรุงต่างๆ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาลดความดันโลหิต ซึ่งมีหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่มีอาการแต่อันตราย ดังนั้น เมื่อท่านตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงแล้วควรมาพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมา
You must be logged in to post a comment Login