วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

TIJ ร่วมขับเคลื่อนความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทย

On August 14, 2019

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เสนอ “นวัตกรรมด้านความยุติธรรม” เชิญผู้เชี่ยวชาญไทย-ต่างชาติ ร่วมถกหาทางออกปัญหาระบบยุติธรรมไทย สร้างสังคมสันติสุข ผ่านแนวคิดหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

ปัจจุบัน สถานการณ์ในระบบยุติธรรมไทยกำลังประสบกับปัญหาท้าทาย จากการเก็บข้อมูลจัดอันดับผู้ต้องขังของ prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีนกับอินเดีย ที่มีประชากรสูงกว่าไทยมาก อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนด้วย ทั้งที่ ประชากรส่วนใหญ่ในเรือนจำก่ออาชญากรรมไม่ร้ายแรง และไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกใช้มาตรการลงโทษด้วยการจำคุกเข้มงวดเพียงใด จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ก็ยังแสดงให้เห็นว่า สถิติอาชญากรรมไม่ได้ลดลง อัตราผู้กระทำผิดซ้ำก็ยังสูงมาก ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการทำให้สังคมปลอดภัยได้อย่างแท้จริง
15657832577421565783063485
“แม้ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น แต่ยังคงมีความท้าทายอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการ ข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค การเยียวยาและเสริมพลังให้เหยื่อ/ผู้เสียหาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานกรรมการบริหาร TIJ และอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว

ขณะที่ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ได้นำเสนอเพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบฐานคิดเบื้องหลังของหลักการลงโทษเพื่อ “แก้แค้นทดแทน” กับ “สมานฉันท์” ว่า “หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice – RJ)” เป็นแนวคิดที่เชื่อได้ว่าสามารถนำมาแก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทยได้ โดยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดสำหรับทุกฝ่าย โดยเน้นการเยียวยาชดใช้ความเสียหายให้ผู้เสียหาย การสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิดในการกระทำของตน ซึ่งมีแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และในกรณีที่เหมาะสม ญาติพี่น้อง ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของชุมชน ได้พบปะเจรจากันเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ หลัก RJ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเอื้ออาทร มีความเชื่อในเรื่องการให้อภัยและการให้โอกาสคนที่สำนึกผิด ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีสายสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งยังนิยมใช้วิธีการที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย เรื่อง RJ จึงสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย แต่ไม่ได้มีการนำแนวทางนี้มาใช้มากนัก
อย่างไรก็ตามในระยะหลังมีความพยายามจะนำมาใช้ และออกกฎหมายรองรับการนำ RJ มาปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ยังอยู่ในวงที่จำกัด เช่น ในศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น
จากพื้นฐานทางวัฒนธรรมประกอบกับเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านความเข้มแข็งของชุมชนของสังคมไทย RJ จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในบริบทประเทศไทยได้ หากแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้กำกับเชิงนโยบายจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ตามความเคยชินแต่เดิมเสียก่อน
สิ่งสำคัญคือ ในกระบวนการ RJ เจ้าหน้าที่หรือผู้ไกล่เกลี่ยต้องให้ความสำคัญกับเหยื่ออาชญากรรมมากยิ่งขึ้น และต้องพยายามทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความตระหนักและรู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนเสียหายที่เหยื่อได้รับ อันจะเกิดความรู้สึกต่อการกระทำผิดของตน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือบรรเทาผลร้ายที่ได้กระทำไว้ และจะไม่กลับมากระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคต โดยกระบวนการจะกระตุ้นและดำเนินการให้จำเลยรับผิดชอบในผลเสียหาย รวมทั้งหามาตรการเยียวยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการสมานฉันท์ระหว่างเหยื่อและจำเลยได้เป็นอย่างดี ถือเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่งเพื่อให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อและจำเลยกลับคืนสู่สังคมได้ดังเดิมอย่างสันติสุข

การประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ TIJ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน RJ จากทั่วโลก ซึ่ง TIJ เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เพื่อพัฒนาคู่มือการนำหลักการ RJ มาปฏิบัติ โดย TIJ เชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีวันนี้ จะเป็นการจุดประกายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรประชาสังคมที่เชื่อมั่นในการเสริมพลังประชาชนร่วมกันผลักดันแนวคิดเรื่องหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการยุติธรรมไทยต่อไป


You must be logged in to post a comment Login