วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พปชร.ขนเอกสาร3คันรถยื่นศาลรธน.สู้คดี21ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

On August 15, 2019

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดี ส.ส. ถือหุ้นสื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้นำคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานของ 20 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และของนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.พรรคประชาภิวัฒน์ มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 30 วันที่ขอขยายยื่นคำชี้แจงในวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งเป็นเอกสารจำนวน 510 แฟ้ม ขนมาด้วยรถกระบะ 3 คันรถ

โดยนายทศพลกล่าวว่า เอกสารหลักฐานที่นำส่งเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่า ส.ส. ทั้ง 21 คน ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ แม้ในบางรายจะมีระบุอยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัท แต่ในการประกอบกิจการจริงก็ไม่ได้มีการผลิตสื่อ ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีการถือครองหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อจริง และมีรายได้จากธุรกิจสื่อ ขณะที่ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐไม่เคยประกอบธุรกิจสื่อ รวมถึงไม่มีรายรับจากธุรกิจสื่อ ซึ่งหลักฐานที่นำมายื่นประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ แบบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท (สสช1.) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) และเอกสารงบดุลบริษัท รวมทั้งภาพถ่ายการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน อย่างเช่น กรณีของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ประกอบธุรกิจฟาร์มและธุรกิจอาหารแช่แข็ง, นายอนุชา นาคาศัย ประกอบธุรกิจโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปหนังสัตว์ จึงได้แนบภาพถ่ายเพื่อยืนยันรูปแบบการประกอบกิจการให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบด้วย

พรรคเน้นว่าถ้าหากประกอบธุรกิจสื่อจริงก็ต้องมีการทำธุรกิจสื่อมาก่อนแล้วและมีรายได้ แต่ ส.ส. ของพรรคไม่มีใครที่เข้าข่ายดังกล่าวเลย ไม่เหมือนกับ ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ 2 คน ที่ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อจริง และมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าว ซึ่งพรรคได้มีการนำรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาในการกำหนดห้าม ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า จะต้องดูว่ามีการประกอบธุรกิจสื่อจริงหรือไม่ เพื่อให้ศาลได้เห็นกระบวนการทั้งหมดในการออกกฎหมายฉบับนี้ด้วย ซึ่งทางพรรคไม่ได้ขอให้ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวน แต่ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของ ส.ส. ที่ถูกร้องเพื่อจะได้เห็นข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อจริง

นายทศพลระบุอีกว่า นอกจากนั้นยังมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจาก ส.ส. ผู้ถูกร้องบางคน เช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น, นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ยังรอเอกสารจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมศิลปากร ในเรื่องการออกใบอนุญาตจัดทำสิ่งพิมพ์ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ในเรื่องใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ที่ยื่นขอไป


You must be logged in to post a comment Login